วิธีดูแลน้องหมาน้องแมวอัมพาต

29649 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วิธีดูแลน้องหมาน้องแมวอัมพาต

วิธีดูแลน้องหมาน้องแมวอัมพาต

        เมื่อสัตว์เลี้ยงได้รับอุบัติเหตุ หรือ อายุมากขึ้น ร่างกายเสื่อมลงตามวัย ส่งผลการทำงานของระบบประสาท ทำให้มีอาการเดินขากะแผลก ขาอ่อนแรง เดินไม่ได้ หรือกลายเป็นอัมพาต ซึ่งอย่างหลังสุดนี้ นอกจากจะทำให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้แล้ว  ยังส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ไม่สามารถพลิกตัวเองได้เกิดเป็นแผลกดทับตามตัว หรือ ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้จนเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบตามมาด้วย..แล้วเราจะสามารถช่วยเหลือน้องหมาน้องแมวของเราที่เป็นอัมพาตได้อย่างไร

        ภาวะอัมพาตในสัตว์เลี้ยง มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากโรคของไขสันหลัง ไม่ว่าจะเป็นหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท (คลิก..อ่านโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท) เนื้องอก หรืออุบัติเหตุ โดยความรุนแรงของโรค และการพยากรณ์โรคจะประเมินได้จากระดับของผการอัมพาต ซึ่งแบ่งได้ 5 ระดับ คือ

 ระดับ 1 สัตว์ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดที่คอ หรือหลัง เจ้าของจะสังเกตว่าน้องมีอาการซึม ไม่ค่อยยอมเดิน ไม่ยอมให้จับ หรือจับแล้วร้อง เกร็งตัว ยืนหลังโก่ง เป็นต้น

 ระดับ 2 สัตว์ป่วยมีการรับรู้ของขาน้อยลง ขาอ่อนแรง แต่ยังสามารถเดินได้อยู่ เจ้าของจะสังเกตว่าน้องจะเดินปัดๆ เดินได้ไม่นานก็จะล้ม

 ระดับ 3 สัตว์ป่วยจะไม่สามารถเดินได้

 ระดับ 4 สัตว์ป่วยจะไม่สามารถยืน เดิน และปัสสาวะเองได้ (เมื่อกระเพาะปัสสาวะขยายเต็มที่ ปัสสาวะจะเล็ดออกมา ทำให้เจ้าของเข้าใจผิดว่าน้องยังปัสสาวะเองได้)

 ระดับ 5 สัตว์ป่วยไม่สามารถขับถ่ายเองได้ และขาไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด


     สัตว์ป่วยอัมพาตในระดับที่ต่างกันจะมีแนวทางการรักษา และพยากรณ์โรคที่ต่างกัน โดยสัตว์ป่วยที่เป็นอัมพาตระดับ 3-5 ต้องได้รับการวินิจฉัย และรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มโอกาสในการกลับมาเดินได้ แต่ถ้าน้องไม่สามารถกลับมาเดินได้ การดูแลที่ดีก็จะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ค่ะ สิ่งสำคัญในการดูแลสัตว์ป่วยอัมพาตคือ “ความสะอาด และความสม่ำเสมอ”

           "ความสะอาด" เป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆในสัตว์ป่วยอัมพาต เพราะสัตว์ป่วยอัมพาตมักจะมีแผลกดทับ รวมทั้งมีอุจจาระ และปัสสาวะเปรอะเปื้อนตามตัวจากการที่ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ หากทิ้งไว้จะทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ และแผลเกิดการติดเชื้อได้

           "ความสม่ำเสมอ" ทั้งการป้อนน้ำและอาหาร การช่วยบีบกระเพาะปัสสาวะ พลิกตัว และการทำกายภาพบำบัด

 การป้อนอาหาร ควรแบ่งเป็นมื้อย่อยๆอย่างน้อย 2 มื้อต่อวัน โดยปริมาณอาหารจะคำนวณได้จากน้ำหนักตัวของสัตว์ป่วย ส่วนมากจะสามารถดูเทียบจากข้างถุง หรือกระป๋องอาหารได้เลยค่ะ แต่ปริมาณดังกล่าวจะเป็นปริมาณต่อวัน ต้องนำมาหารจำนวนมื้อก่อนนะคะ


 การป้อนน้ำ ให้แบ่งป้อนทุก 2 - 4 ชั่วโมง โดยปริมาณน้ำที่ควรได้รับคือ 50 ซีซีต่อน้ำหนักตัว 1กิโลกรัมต่อวัน เช่น สุนัขหนัก 5 กิโลกรัม ต้องได้รับน้ำ 250 ซีซีต่อวัน เป็นต้น
** ในกรณีที่สัตว์ป่วยอัมพาตทั้ง 4 ขา ขณะป้อนอาหาร หรือน้ำให้ประคองลำตัวขึ้น เพื่อลดโอกาสการสำลักน้ำหรืออาหาร และไม่ควรให้ปริมาณมากๆภายในครั้งเดียว เพราะทำให้ท้องอืดได้ค่ะ



 การช่วยบีบกระเพาะปัสสาวะ สัตว์ป่วยอัมพาตมักจะไม่สามารถปัสสาวะเองได้ จึงต้องช่วยบีบนวดกระเพาะปัสสาวะทุก 4 - 6 ชั่วโมง เพื่อลดโอกาสการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยการบีบนวดกระเพาะปัสสาวะ จะใช้มือคลำ และนวดไปที่ช่องท้องระหว่างเต้านมสองคู่สุดท้าย กรณีสุนัขตัวใหญ่ หรืออ้วน จะทำได้ยาก อาจจำเป็นต้องสวนท่อปัสสาวะขึ้นกับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ที่ดูแล ถ้าเจ้าของพบปัสสาวะขุ่น หรือมีเลือดปนในขณะช่วยบีบนวดกระเพาะปัสสาวะ หรือในท่อสวน ควรพาน้องไปพบสัตวแพทย์
** ในสัตว์ป่วยที่สวนท่อปัสสาวะ บางครั้งอาจพบปัญหาปัสสาวะไม่ออกมาจากท่อ หรือออก น้อยลง อาจเกิดจากท่อถอนออกมา เจ้าของควรพาพบสัตวแพทย์ไม่ควรดันท่อเข้าไปเอง เพราะ อาจทำให้ท่อพับได้
 

 การพลิกตัว สัตว์ป่วยอัมพาตที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวเองได้ ต้องช่วยพลิกตัวทุก 4 - 6 ชั่วโมง เพื่อลดโอกาสเกิดแผลกดทับ วิธีการพลิกตัว ต้องจับสัตว์ป่วยให้อยู่ในท่านอนคว่ำก่อน แล้วค่อยพลิกเอาอีกข้างลง ไม่ให้พลิกในท่านอนหงายเพราะจะทำให้เกิดภาวะกระเพาะบิดได้ นอกจากการพลิกตัวที่ช่วยลดการเกิดแผลกดทับแล้วการเลือกที่นอนที่เหมาะสำหรับสัตว์ป่วยอัมพาตก็มีส่วนช่วยด้วยเช่นกันค่ะ ที่นอนที่เหมาะสมคือที่นอนที่ช่วยลดแรงกดทับบริเวณปุ่มกระดูก อาจจะเป็นฟูกหนาๆ หรือเตียงลม
**หากต้องป้อนน้ำหรืออาหาร ในช่วงเวลาเดียวกับการพลิกตัว แนะนำให้พลิกตัวก่อนแล้วค่อยป้อนค่ะ



 การทำกายภาพ แนะนำให้ทำการยืดหดขา วันละ 2 – 3 ครั้งๆละ 15 – 30 ที เพื่อลดการยึดติดของข้อต่อ และชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ (ดูวิธีช่วยกายภาพง่ายๆ ทำได้ที่บ้าน <<คลิก>> ) แนะนำให้พา ในกรณีที่สัตว์ป่วยอัมพาต 2 ขาหลัง เดินด้วยการใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง หรือวีลแชร์ วันละ 2-3 ครั้งๆละ 15 นาที
** ในช่วง 6 สัปดาห์แรกของสัตว์ป่วยที่เริ่มเป็นอัมพาต หรือได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ต้องจำกัดบริเวณ งดการพยุง หรือจูงเดินค่ะ

กายอุปกรณ์สำหรับสัตว์ป่วยอัมพาต

        ภาวะอัมพาต อาจจะฟังดูน่ากลัว แต่หากเราช่วยกันดูแลความสะอาด และ หมั่นทำกายภาพอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้สัตว์เลี้ยงของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น เหมือนกับเรื่องราวของ "น้องหมานักสู้..ไป่ไป๋<<คลิก>>"ค่ะ



……………………………………………

บทความโดย...สพ.ญ. อภิลักษณ์ มหัธนันท์

 

Photo credit: bored panda, Lil back bracer, Pet gazette และ TheRehabVet

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้