กายภาพบำบัดสัตว์เลี้ยงง่ายๆ ทำได้ที่บ้าน

32883 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กายภาพบำบัดสัตว์เลี้ยงง่ายๆ ทำได้ที่บ้าน

กายภาพบำบัดสัตว์เลี้ยงง่ายๆ ทำได้ที่บ้าน

        เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือ การกายภาพบำบัดในสัตว์เลี้ยง คือการรักษา ฟื้นฟูสภาพร่างกาย ให้แก่สัตว์เลี้ยงที่มีความพิการ หรือเสื่อมสมรรถภาพทางกาย เพื่อให้สัตว์เลี้ยงสามารถกลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดค่ะ 

โดยการทำกายภาพบำบัดต้องอาศัยความต่อเนื่องในการรักษา การจะพาน้องหมาน้องแมวมาหาคุณหมอทุกวันนั้นคงจะเป็นเรื่องยาก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเรียนรู้วิธีการทำกายภาพบำบัดง่ายๆ ที่สามารถทำได้เองที่บ้าน เพื่อให้น้องหมาน้องแมวได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง....เป็นการบ้านของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องช่วยทำระหว่างที่ไม่ได้หาคุณหมอค่ะ

 การประคบเย็น เป็นการใช้ความเย็นช่วยลดอาการปวด บวม และอักเสบ โดยใช้เจลเย็น หรือถุงน้ำแข็งห่อผ้า ประคบบริเวณที่มีอาการบาดเจ็บใหม่ๆ หรือหลังการผ่าตัดภายใน 72 ชม. ประคบครั้งละ 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง

ข้อควรระวัง

         -   ห้ามประคบน้ำแข็งกับผิวหนังโดยตรง เพราะอาจทำให้ผิวหนังถูกกัดจากความเย็นได้

         -  ไม่ควรทำในรายที่มีอุณหภูมิร่างกายต่ำ หรือบริเวณที่มีการไหลเวียนของเลือดน้อย 



 การประคบร้อน เป็นการใช้ความร้อนช่วยลดปวดและอักเสบในรายที่มีการอักเสบแบบเรื้อรัง ความร้อนจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ และเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อ ทำให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ทำได้โดยการใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรือลูกประคบห่อผ้าขนหนู ประคบนาน 10-20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง ขณะประคบให้คอยสังเกตบริเวณที่ประคบทุก 5 นาทีว่ามีอาการแดง พองหรือไม่

ข้อควรระวัง

         -    ห้ามใช้ในรายที่เป็นการอักเสบแบบเฉียบพลัน มีปัญหาเรื่องเลือดหยุดยาก บริเวณที่มีการบวมน้ำ หรือเป็นมะเร็ง  

         -   ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงนอนทับที่ประคบ เพราะจะทำให้เกิดแผลไหม้พองได้


 
 การออกกำลังกายเพื่อการฟื้นฟู

1. การยืดหดข้อต่อ (Passive range of motion : PROM)

        เป็นการออกกำลังกายเพื่อคงความยืดหยุ่นของข้อ โดยอาศัยแรงของคุณพ่อคุณแม่ ทำได้โดยให้สัตว์เลี้ยงนอนตะแคง โดยเอามือของเราพยุงบริเวณข้อที่จะทำ แล้วยืดหดข้อต่อช้า ๆ สามารถทำได้ทั้งขาหน้า และขาหลัง โดยทำตั้งแต่ข้อนิ้ว ไล่ขึ้นไปที่ข้อเท้า ข้อเข่าหรือข้อศอก และ ข้อสะโพกหรือข้อไหล่ ทำข้อละ 20-30 ครั้ง วันละ 2 – 4 ครั้ง 

  

 

 2. การยืดกล้ามเนื้อ (Stretching exercises)      

       ช่วยลดการสร้างพังผืด และเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อ โดยการยืดข้อแต่ละข้อค้างไว้ 5-10 วินาที และทำซ้ำประมาณ 5-10 ครั้ง 

** การยืดหดข้อต่อ และการยืดกล้ามเนื้อ สามารถทำต่อเนื่องกันได้ โดยทำการยืดหดข้อต่อก่อน และแนะนำให้ประคบร้อนก่อนทำ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวและได้ผลดียิ่งขึ้นค่ะ



3. การฝึกการลงน้ำหนัก และการทรงตัว

         จับให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในท่ายืน 4 ขา แล้วเรายกขาข้างหนึ่งให้เหนือพื้น ค้างไว้ 10 – 15 วินาที  เพื่อฝึกการทรงตัว และถ่ายน้ำหนักไปลงขาข้างที่เหลือ ในช่วงแรกเจ้าของอาจต้องประคองตัวของสัตว์เลี้ยงเพื่อช่วยรับน้ำหนักบางส่วนแล้วค่อยๆผ่อนแรงลง

4. การช่วยประคองยืน/เดิน โดยใช้ผ้าขนหนู นำผ้าขนหนูสอดใต้ท้อง เพื่อช่วยประคองสัตว์เลี้ยง

5. Dancing / Wheelbarrowing เป็นการออกกำลังกายเพื่อให้สัตว์เลี้ยงลงน้ำหนัก และใช้ขามากขึ้น จะเริ่มทำเมื่อสัตว์เลี้ยงเริ่มลงน้ำหนักขาบ้างแล้ว  

       -  Dancing หรือท่าเต้นรำ  ทำโดยเจ้าของจับ 2 ขาหน้าและให้สัตว์เลี้ยงยืนลงน้ำหนักที่ 2 ขาหลัง เมื่อสัตว์เลี้ยงยืนได้อย่างมั่นคงแล้วค่อยๆพาสัตว์เลี้ยงเดินหน้าและถอยหลัง เหมือนกับเต้นรำอยู่

       -  Wheelbarrowing หรือท่าไถนา หลักการเหมือนกับท่าเต้นรำแต่เจ้าของเปลี่ยนมาจับ 2 ขาหลังแทน เพื่อให้สัตว์เลี้ยงลงน้ำหนักที่ขาหน้า

6. Sit to stand

         เป็นการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาหลัง โดยเจ้าของสั่งให้สุนัขยืนและนั่ง ขณะนั่งปลายเท้าของสัตว์เลี้ยงต้องตรงไม่แบะออก เริ่มแรกให้ทำ 5 – 10 ครั้ง วันละ 1 – 2 ครั้ง หลังจากนั้นอาจเพิ่มเป็น 15 ครั้ง วันละ 3 – 4 ครั้ง

          ข้อควรระวัง การออกกำลังกายเพื่อการฟื้นฟู ในช่วงแรกสัตว์เลี้ยงอาจไม่ยอม ให้ค่อยๆทำ อย่าฝืน เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ และพื้นที่ทำการออกกำลังกายต้องทำบนพื้นไม่ลื่น



         การทำกายภาพบำบัดให้สัตว์เลี้ยงที่บ้านนั้นทำได้ไม่ยาก แต่ละวิธีก็จะมีจุดประสงค์ต่างกัน และบางวิธีก็มีข้อจำกัดซึ่งอาจไม่เหมาะกับสัตว์เลี้ยงของเรา ดังนั้นในครั้งแรก ก่อนเริ่มทำกายภาพเองที่บ้าน แนะนำให้พาน้องมาปรึกษาเพื่อหาวิธีที่เหมาะที่สุดสำหรับสัตว์เลี้ยงของเรากับสัตวแพทย์ก่อนนะคะ

 

 

.......................................................................................

บทความโดย....สพ.ญ.อภิลักษณ์ มหัธนันท์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้