21209 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่อพูดถึงถึงโรคผิวหนังในน้องหมา "ไรขี้เรื้อน" ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สุนัขของเราเป็นโรคผิวหนัง ขนร่วง ผิวหนังแดง จนบางครั้งมีแผลลือดออก โรคขี้เรื้อนในสุนัขมี 2 ประเภทคือ “โรคไรขี้เรื้อนแห้ง” ซึ่งเกิดจากไรขี้เรื้อนซาร์คอพเตส (Sarcoptes spp.) และ “โรคไรขี้เรื้อนเปียกหรือไรขี้เรื้อนขุมขน” ที่เกิดจากไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ (Demodex spp.) ค่ะ
โรคไรขี้เรื้อนแห้ง
น้องหมาที่ติดเจ้าไรขี้เรื้อนแห้งนี้ จะเกิดอาการเกาคันอย่างรุนแรง ซึ่งยิ่งเกายิ่งทำให้ผิวหนังอักเสบ ขนร่วง เกิดลักษณะผิวแห้งหนาเหมือนหนังช้างโดยตำแหน่งที่พบมากคือ ขอบใบหู ใต้ท้อง ข้อศอกและข้อเท้าของขาหลัง
ในส่วนของวิธีการตรวจ คุณหมอจะใช้วิธีขูดตรวจผิวหนังระดับตื้นๆ ซึ่งจะมีโอกาสพบตัวของไรขี้เรื้อนซาร์คอพเตส (Sarcoptes spp.) นี้ ร่วมกับวิธีการทดสอบ pinna-pedal reflex โดยเป็นการตรวจการตอบสนองต่อการบีบนวดที่ปลายใบหู ถ้าหากบีบนวดปลายหูแล้ว สุนัขยกขาข้างเดียวกับหูที่บีบนวดขึ้นมาเกา ก็จะมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคไรขี้เรื้อนแห้ง สิ่งสำคัญที่ควรระวังคือ โรคไรขี้เรื้อนแห้งสามารถติดต่อทั้งคนและสัตว์ตัวอื่น ๆ ดังนั้นหากตรวจพบว่าสุนัขที่บ้านติดเชื้อไรขี้เรื้อน ควรแยกเลี้ยงก่อนจนกว่าจะหายนะคะ
โรคไรขี้เรื้อนเปียกหรือโรคไรขี้เรื้อนขุมขน
ความจริงแล้วตามผิวหนังปกติของสุนัขจะมีตัวไรขี้เรื้อนรูขุมขนกันอยู่แล้วค่ะ แต่ถ้ามีปัจจัยใดๆก็ตาม เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือ มีโรคอื่นที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ก็อาจทำให้ตัวไรขี้เรื้อน Demodex เจริญเติบโตมากเกินไปจนทำให้ก่อโรคผิวหนังขึ้นมา จึงทำให้เราพบโรคนี้ได้บ่อยในสุนัขเด็กเเละสุนัขชรา น้องหมาจะเกิดอาการขนร่วง ผิวหนังเยิ้มแฉะ กลิ่นตัวแรง มีเม็ดตุ่ม และเกิดการอักเสบรุนแรงที่ผิวหนัง โดยอาจจะเป็นเฉพาะที่ เช่น เท้า หน้า เเละ รอบดวงตา หรือเป็นทั้งตัวเลยก็ได้ค่ะ
ปกติแล้วหากติดเชื้อไรขี้เรื้อนเปียกเพียงอย่างเดียวจะไม่ทำให้เกิดการคัน แต่ถ้ามีการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อน เช่นแบคทีเรีย หรือ เชื้อยีสต์ก็จะทำให้น้องหมาคันได้เช่นกัน
ในส่วนของการตรวจ คุณหมอจะใช้วิธีการขูดตรวจผิวหนังชั้นลึก เพราะเจ้าตัวไรพวกนี้จะอยู่ในรูขุมขน วิธีนี้อาจทำให้น้องหมามีเลือดไหลซิบ ๆ ออกมาบ้าง แต่ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใดนะคะ
ในส่วนการรักษาโรคขี้เรื้อนทั้ง 2 ประเภทนั้น สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การฉีดยาฆ่าตัวไรขี้เรื้อน ยาหยดหลัง การอาบน้ำด้วยแชมพูยา การใช้ยาฆ่าไรขี้เรื้อนเฉพาะที่ หรือ ในปัจจุบันก็มีการผลิตยาฆ่าไรขี้เรื้อนรูปแบบกินด้วย ซึ่งการจะเลือกวิธีการรักษาอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับ บริเวณที่พบ จำนวนตำแหน่งที่เป็น และ ความรุนแรงของโรค ควรปรึกษากับสัตวแพทย์ เพื่อเลือกการรักษาที่เหมาะสมกับน้องหมาของเราที่สุดค่ะ
ตัวอย่างการรักษา "คุณหนูมอมกับโรคไรขี้เรื้อนเปียก" <<คลิก>>
..................................................................................................
บทความโดย
สพ.ญ. พรปวีณ์ ธนรัตน์สุทธิกุล
ขอบคุณภาพประกอบจาก : petmd และ pinterest