การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ในสัตว์เลี้ยง

7393 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ในสัตว์เลี้ยง

“Stem cell Therapy”
การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ในสัตว์เลี้ยง

หลายๆท่านน่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ สเต็มเซลล์ (Stem Cell) วิวัฒนาการทางการแพทย์ทางเลือก ที่ใช้ในการรักษาโรคต่างๆในมนุษย์กันมาบ้างแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโรคเลือดต่างๆ โรคทางพันธุกรรมบางชนิด โรคทางระบบประสาท โรคอัมพาต ฯลฯ.......แล้วทราบหรือไม่ปัจจุบัน การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ไม่ได้ใช้รักษาเฉพาะมนุษย์ แต่ยังรวมถึงสัตว์เลี้ยงของเราด้วยนะคะ

สเต็มเซลล์ คืออะไร?

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าเซลล์ คืออะไร...เซลล์เป็นโครงสร้างที่เล็กที่สุดของสิ่งมีชีวิต เมื่ออยู่รวมๆกันจะกลายเป็นอวัยวะต่างๆ เช่น เซลล์ผิวหนัง สมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ และเซลล์เม็ดเลือด เรียกได้ว่าทุกๆอย่างในร่างกายของเราประกอบกันขึ้นมาจากเซลล์ค่ะ  ส่วนสเต็มเซลล์นั่นคือ เซลล์ชนิดพิเศษที่สามารถแบ่งตัวได้อย่างไม่จำกัดและสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์อะไรก็ได้เกือบทุกชนิดในร่างกาย มีหน้าที่สำคัญในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ เพื่อทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพไปค่ะ....เป็นเซลล์เริ่มต้นของทุกๆอย่าง งเราจึงเรียกสเต็มเซลล์ว่า “เซลล์ต้นกำเนิด”ค่ะ

การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เข้าไปบริเวณที่ผิดปกติ หรือ มีปัญหา จะเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่ทดแทนเซลล์บริเวณดังกล่าวและกระตุ้นให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงแบ่งตัวเกิดการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ในบริเวณที่ปลูกถ่าย ด้วยคุณสมบัติของสเต็มเซลล์ จึงถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในอายุรศาสตร์ฟื้นฟู หรือ regenerative medicine เพื่อมุ่งหวังในการซ่อมแซมอวัยวะที่มีความผิดปกติจากความเสื่อมและโรคต่างๆค่ะ

สเต็มเซลล์ใช้เสริมการรักษาโรคใดได้บ้าง?

ปัจจุบันมีการศึกษาการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาหลายๆโรคในสัตว์เลี้ยง เช่น  โรคช่องปากอักเสบเรื้อรังในแมว โรคลําไส้อักเสบ โรคผื่นภูมิแพ้ในสุนัข หอบหืด แผลหลุมที่กระจกตา กระจกตาอักเสบเรื้อรัง โรคตาแห้ง แต่โรคที่มีการศึกษาอย่างกว้างขวางและเป็นที่นิยมคือ โรคกระดูกและข้อเสื่อมและโรคทางระบบประสาทอัมพฤกษ์/อัมพาต จากความเสียหายของไขสันหลังค่ะ

การใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาข้อเสื่อม

  1. เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ร่วมกับการให้ยาบำรุง หรือ การผ่าตัดหากจำเป็น
  2. ลดความถี่และลดการใช้ยาลดอักเสบในระยะยาว
  3. ลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา
  4. ช่วยให้สัตว์ป่วยมีการฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น โดยจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงหลังการปลูกถ่าย 1-10 วัน

อย่างไรก็ตามสเต็มเซลล์ มักใช้เสริม เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ในบางครั้งอาจจะยังจำเป็นต้องกินยาหรือสารเสริมอาหารบางชนิดอยู่ และถึงแม้ว่าจะได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ไประยะหนึ่งจนไม่มีอาการเจ็บปวดแล้ว ก็ไม่ควรปล่อยให้น้องวิ่งแบบคึกคะนองจนเกินไป หากกลับมาเจ็บซ้ำจะเรื่องใหญ่ และ ควรให้ออกกำลังกายเพิ่มกล้ามเนื้อที่มีแรงกระแทกต่ำด้วยธาราบำบัด เช่น ว่ายน้ำ/เดินสายพานใต้น้ำอย่างสม่ำเสมอค่ะ  

ตัวอย่างการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคข้ออักเสบจากระบบภูมิคุ้มกันของตัวเอง (Immune - mediated polyarthritis) น้องบาสมาตี้ <<คลิก>>

 stem cell

 

 

 

 

การเตรียมตัวสัตว์เลี้ยงก่อนการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เข้าข้อต่อ

ภายหลังจากที่น้องหมาหรือน้องแมว ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคข้อเสื่อม และ สัตวแพทย์แนะนำให้เสริมการรักษาด้วยสเต็มเซลล์แล้ว ขั้นแรกคือจะต้องตรวจเลือด ประเมินสุขภาพเบื้องต้นก่อนค่ะว่าสามารถวางยาสลบได้หรือไม่ เนื่องจากในขั้นตอนการเก็บและปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ น้องจะต้องอยู่ในภาวะสลบค่ะ ขั้นตอนต่อไปจะขึ้นอยู่กับประเภทของสเต็มเซลล์ที่จะปลูกถ่าย แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ

  1. การปลูกถ่ายโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากตนเอง (Autologous stem cell transplantation) : การใช้สเต็มเซลล์ของตัวเองอาจเก็บได้จากไขมัน หรือ ไขกระดูก แล้วนำเซลล์ที่เก็บได้นั้นไปเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ ให้แบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากพอ ก่อนที่จะนำกลับมาปลูกถ่ายเข้าที่ข้อต่อค่ะ วิธีนี้จะปลอยภัยสูง มีปฏิกิริยาต่อต้านของร่างกายน้อยมาก แต่มีข้อเสียคือต้องวางยาสลบ 2 ครั้ง ในขั้นตอนเก็บ และ ขั้นตอนปลูกถ่าย และจะใช้ระยะเวลานานกว่าแบบที่ 2 ค่ะ
  2. การปลูกถ่ายเซลล์โดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากผู้อื่น (Allogeneic stem cell transplantation) : วิธีนี้จะสะดวกกว่า วางยาสลบเพียง 1 ครั้ง ในขั้นตอนปลูกถ่าย แต่ต้องทำการตรวจความเข้ากันได้ของสเต็มเซลล์และร่างกายของสัตว์เลี้ยงก่อนค่ะ

ขั้นตอนการฉีด คือฉีดเข้าส่วนของข้อต่อที่มีปัญหา ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของศัลยแพทย์ เป็นผู้ปลูกถ่ายค่ะ ใช้เวลาเพียง 10- 15 นาทีเท่านั้น ภายหลังการปลูกถ่าย แนะนำให้แอดมิดเพื่อดูอาการ 1 คืน หากไม่มีอาการแพ้ วันรุ่งขึ้นก็สามารถกลับบ้านและใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติแล้วค่ะ

.....................................................................................

บทความโดย....สพ.ญ. พรปวีณ์ ธนรัตน์สุทธิกุล

Photo credit: mali Hospital, painmanagementchicago

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้