26960 จำนวนผู้เข้าชม |
“ไข้หัดแมว” โรคที่ทาสแมวต้องระวัง
โรคไข้หัดแมว หรือโรคลำไส้อักเสบในแมว หรือสัตวแพทย์มักเรียกว่าอีกชื่อหนึ่งว่า Feline Panleukopenia แปลว่า ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำในแมว ซึ่งก็เพราะว่าโรคนี้ทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำลงมากนั่นเองค่ะ โรคนี้เกิดจากเชื้อพาโวไวรัส (parvo virus) เป็นเชื้อที่ขึ้นชื่อว่าคงทนในสิ่งแวดล้อมและทำลายได้ยาก แม้จะไม่ติดคน แต่คนสามารถเป็นตัวพาเชื้อไปติดน้องแมวตัวอื่นได้ และเชื้อพาโวในน้องหมาสามารถติดสู่น้องแมวได้ด้วย โดยพบว่า 95% ของแมวที่ป่วยด้วยโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อพาร์โวไวรัสแมว (feline parvovirus; FPV) และอีก 5% นั้นอาจเกิดจากการติดเชื้อพาร์โวไวรัสในสุนัข (canine parvovirus; CPV) ค่ะ
เราจะพบว่าน้องแมวมีอาการท้องเสีย อาเจียน ซึม อ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร มีไข้ มีภาวะขาดน้ำ บางรายพบอาการชัก ก็เพราะตัวเชื้อโจมตีระบบในร่างกายทั้งระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal system) ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) และระบบประสาท (Nervous system) นั่นเอง และอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าโรคนี้ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำลง ซึ่งเม็ดเลือดขาวทำหน้าที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวลดต่ำลงอย่างมาก ก็จะมีโอกาสเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่ายและรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ นอกจากนี้หากแมวติดเชื้อขณะท้อง อาจเกิดการแท้งหรือลูกตายในท้อง หากลูกแมวรอดชีวิตจนคลอดก็มักมีอาการทางระบบประสาท ร่างกายอ่อนแอและเสียชีวิตเช่นกันค่ะ
เชื้อไวรัสนี้จะอยู่ในสิ่งคัดหลั่งของร่างกาย เช่น อุจจาระ อาเจียน ปัสสาวะ และ น้ำลาย สามารถเกิดการแพร่กระจายได้สองทาง
1. ทางตรง (directly contact; fecal-oral route) จากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากปากและจมูก พูดเหมือนโอกาสจะเกิดขึ้นได้น้อย แต่โดยธรรมชาติแล้วแมวมีนิสัยชอบทำความสะอาดตัวเองและเวลาทักทายกันก็เอาจมูกชนกัน หรือถ้ารักกันมากๆ ก็เลียขนให้กันอีกด้วย จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายได้มากทีเดียวค่ะ
2. ทางอ้อม (indirectly contact) จากการที่แมวป่วยขับสิ่งคัดหลั่งที่มีเชื้อออกมาสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นของใช้ กระบะทราย ที่นอน จานข้าว ปรสิตภายนอก หรือแม้แต่ตัวคนเรา ก็สามารถพาเชื้อไปสู่น้องแมวได้ค่ะ
การวินิจฉัยโรคทำได้โดยการตรวจหาเชื้อไวรัส โดบใช้ชุดตรวจ test kit ตรวจหาเชื้อจากอุจจาระ โดยวิธีนี้เป็นวิธีที่สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว แต่เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น หากต้องการความแน่ชัดจะต้องทำการตรวจด้วยวิธี PCR (Polymerase chain reaction)ค่ะ
การรักษาโรคนี้ ไม่มียารักษาโรคโดยตรง แต่จะเป็นการรักษาตามอาการ ให้สารน้ำ และป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน และในปัจจุบันนิยมให้ยาเสริมภูมิ interferon ที่จะไปรบกวนการเพิ่มจำนวนของไวรัส และช่วยกระตุ้นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานในการต้านไวรัสค่ะ
รูปแสดงตัวอย่างการอ่านผลของชุดตรวจ ที่ให้ผลบวกกับเชื้อพาโวไวรัส
แม้เชื้อไวรัสนี้ ได้ชื่อว่าถึก และทนมากๆอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน แต่ก็ยังมีวิธีฆ่าเชื้อที่สามารถทำได้ โดยทำความสะอาดฆ่าเชื้อที่พื้นผิวกรง วัสดุอุปกรณ์ กระบะทราย รวมทั้งวัสดุปูรองด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมไฮโปคลอไรต์ แต่การป้องกันที่ดีที่สุดคงไม่พ้นการทำวัคซีนให้กับน้องแมว เพื่อเพิ่มคุ้มกันให้กับน้อง ถึงแม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ต่อให้ได้รับเชื้อก็จะไม่แสดงอาการรุนแรงค่ะ
นอกจากนี้ถ้าจะรับเจ้าตัวเล็กน้องใหม่เข้ามาเลี้ยงเพิ่ม ก็ควรแยกกักโรคก่อน อย่าเพิ่งให้เข้าฝูงประมาณ 14 วัน เพื่อครอบคลุมระยะฟักตัวของโรค (ประมาณ 2-9 วัน) เมื่อครบกำหนดแล้วน้องแมวไม่มีอาการป่วยก็สามารถพาน้องให้รู้จักกับพี่ๆได้และพามาทำวัคซีนได้เลยค่ะ
ศูนย์สุขภาพสัตว์เลี้ยง Hospetal ให้บริการฉีดวัคซีนน้องแมวที่ครบถ้วน โดยแนะนำโปรแกรมวัคซีนสำหรับลูกแมวดังนี้ค่ะ
*แมวอายุน้อยกว่า 3 เดือน ควรถ่ายพยาธิทุก 2 สัปดาห์ และแมวอายุ 3 เดือน ขึ้นไป ควรถ่ายพยาธิทุก 3 เดือน
**WSAVA2015 vaccination guideline group
***การป้องกันปรสิตภายนอกระยะการป้องกันขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ แต่ควรได้รับอย่างสม่ำเสมอ
………………………………………………………….
บทความโดย สพ.ญ. กรกนก แสงอำนาจ
ที่มา:
1. https://www.merck-animal-health-usa.com/nobivac/feline-panleukopenia
2. https://www.cats.org.uk/uploads/documents/Info_for_Vets/Feline_parvovirus_(FPV)_procedures_v1.pdf
3. https://www.vetfolio.com/learn/article/detection-of-feline-panleukopenia-virus-using-a-commercial-elisa-for-canine-parvovirus