กายภาพบำบัดในสัตว์เลี้ยง สุนัขและแมว (Pet Rehabilitation)

23083 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กายภาพบำบัดในสัตว์เลี้ยง สุนัขและแมว (Pet Rehabilitation)

การทำกายภาพบำบัดในสัตว์เลี้ยง สุนัข และแมว (Pet Rehabilitation)

      เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือการกายภาพบำบัดในสัตว์เลี้ยง คือการรักษา ฟื้นฟูสภาพร่างกาย ส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อน แก่สัตว์เลี้ยงที่มีความพิการ หรือเสื่อมสมรรถภาพทางกาย เพื่อให้สัตว์เลี้ยงสามารถกลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดค่ะ 

หมายเหตุ: แม้ว่า PRS Center จะมีเคสกายภาพบำบัดสุนัขและน้องแมวเข้ามาเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าบทความนี้ขอเขียนรวมกันทุกสายพันธุ์ว่า "สัตว์เลี้ยง" นะคะ

 

การทำกายภาพบำบัดเหมาะกับสัตว์เลี้ยงที่ป่วยเป็นโรคใดบ้าง

            เมื่อสัตว์เลี้ยงมีความพิการ หรือเสื่อมสมรรถภาพทางกาย ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่างเช่น เมื่อน้องหมาเดินขากะแผลก ขาอ่อนแรง เดินไม่ได้ หรือกลายเป็นอัมพาต ซึ่งอย่างหลังสุดนี้ นอกจากจะทำให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้แล้ว  ยังส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ไม่สามารถพลิกตัวเองได้เกิดเป็นแผลกดทับตามตัว หรือ ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้จนเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบตามมาด้วย

     ในสมัยก่อนนั้น เมื่อสัตว์เลี้ยงมีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระดูกและข้อ (โดยเฉพาะที่เกิดบ่อยกับสุนัขใหญ่บางสายพันธุ์) หรือโรคระบบประสาท ส่วนใหญ่จะต้องอาศัยการผ่าตัด หรือ กินยาบรรเทาอาการเจ็บปวด ซึ่งยาบางชนิดนั้น เมื่อให้กินเป็นระยะเวลานาน ก็อาจเกิดผลเสียต่อร่างกายตามมา โดยเฉพาะตับและไตที่มีหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย

     ปัจจุบันจึงมีการศึกษาเกี่ยวกับการทำกายภาพบำบัดในสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยเฉพาะในสุนัขและแมว และพบว่า กายภาพบำบัดมีความสำคัญอย่างมากในการรักษาอาการต่าง ๆ โดยช่วยลดความเจ็บปวด และ เร่งการฟื้นฟูของร่างกาย ทำให้สามารถลดการกินยาลงได้

 

การทำกายภาพบำบัด จึงเหมาะกับสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาดังต่อไปนี้

  • โรคทางระบบประสาทส่วนสมองและไขสันหลัง ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมตามอายุ เช่นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือ ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงที่ทำให้ขาอ่อนแรง หรือเดินผิดปกติไป (หมายเหตุ: อ่านบทความ การรักษาอาการกระดูกทับเส้นประสาทของสุนัข/หมาแก่ เพื่อศึกษาเพิ่มเติมได้ค่ะ)


  • สัตว์เลี้ยงที่ได้รับอุบัติเหตุ กระดูกหัก หรือ เป็นแผลขนาดใหญ่ ที่ต้องการเร่งการเชื่อมต่อของกระดูกและการหายของแผล
     
  • ข้อเสื่อม ไม่ว่าจะเป็น ข้อไหล่เสื่อม ข้อเข่าเสื่อม โดยเฉพาะข้อสะโพกเสื่อม ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากในสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ และยังสามารถตรวจพบโครงสร้างผิดปกติได้ตั้งแต่กำเนิดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบสาเหตุของอาการน้องหมาน้องแมวได้โดยเร็ว ก็จะสามารถป้องกันหรือ ชะลอการเกิดโรคได้ค่ะ (หมายเหตุ: อ่านบทความ โรคข้อสะโพกเสื่อมในสุนัข: อาการ และการรักษา เพื่อศึกษาเพิ่มเติมได้ค่ะ)
     
  • สะบ้าเคลื่อน โรคฮิตในน้องหมาพันธุ์เล็ก เช่น ปอมเมอเรเนี่ย ชิวาว่า ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่ทำให้สุนัขมีอาการขากะแผลกได้เป็นอันดับต้นๆของประเทศไทยเลยค่ะ (หมายเหตุ: อ่านบทความ วิธีดูแลรักษาโรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัขพันธุ์เล็ก เพื่อศึกษาเพิ่มเติมได้ค่ะ ^^)
     
  • เอ็นไขว้เข่าขาด (ลองอ่านเอ็นไขว้หน้าขาดในสุนัข...ผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัดดีนะ ได้นะคะ)

    นอกจากนี้หากสัตว์เลี้ยง มีความจำเป็นที่ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขภาวะดังกล่าวข้างต้น เช่น ผ่าตัดหัวกระดูกสะโพก ผ่าตัดลูกสะบ้า หรือแม้กระทั่งการผ่าตัดกระดูกสันหลังเพื่อลดการกดเบียดของไขสันหลัง การกายภาพก็จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการลดระยะเวลาในการฟื้นตัวหลังผ่าตัดลงได้มากทีเดียว (หมายเหตุ: อ่านบทความ การทำกายภาพบำบัดสุนัข ก่อนและหลังสุนัขผ่าตัดกระดูกสันหลัง เพื่อศึกษาเพิ่มเติมได้ค่ะ)

หลักการทำกายภาพบำบัด

            การกายภาพบำบัดนั้นแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเราจะมุ่งเน้นที่การ "ลดปวดลดอักเสบ" ก่อน ระยะต่อมาจึงจะเป็นการ "ฟื้นฟู"

ถึงแม้ว่าการทำกายภาพบำบัดสำหรับสัตว์ป่วยโรคระบบกระดูก และโรคระบบประสาทนั้น อาจมีวิธีการทำ ตำแหน่งการทำ และเครื่องมือการทำกายภาพบำบัดที่แตกต่างกันไป แต่ทั้ง 2 อย่างต่างมีจุดประสงค์เดียวกันก็คือ ในระยะแรกนั้นต้องควบคุมความเจ็บปวดให้ได้ก่อน

ถ้าหากว่าเราเจ็บข้อสะโพกทุกครั้งที่เราลุกนั่ง หรือเดิน เราก็คงไม่อยากจะเคลื่อนไหวใช่ไหมคะ สัตว์เลี้ยงของเราก็เช่นกันค่ะ

เมื่อเราช่วยบรรเทาความเจ็บปวดลงได้แล้ว จึงจะเริ่มเข้าสู่ระยะที่ 2 นั้นก็คือ "การฟื้นฟู" เพิ่มการเคลื่อนไหว และความแข็งแรงเพื่อทำให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติที่สุดค่ะ
 

การกายภาพบำบัดสุนัข/แมว/สัตว์เลี้ยง เพื่อ "ลดปวดลดอักเสบ"

1. การประคบเย็น และ การประคบร้อน เป็นการกายภาพบำบัดโดยใช้เครื่องมือที่หาได้ง่ายที่สุดเลยค่ะ โดยการประคบเย็น ส่วนการประคบเย็นนั้น เป็นวิธีแสนง่ายที่บรรเทาอาการเจ็บปวดและบวม

โดยควรจะประคบเย็นภายใน 72 ชั่วโมงหลังบาดเจ็บ หลังจากนั้นจึงเริ่มประคบร้อนเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อและเส้นเอ็นได้คลายตัว เส้นเลือดเกิดการขยายตัว เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทำให้เคลื่อนไหวข้อต่อได้ดีขึ้น

โดยการประคบทั้ง 2 แบบนั้น ควรทำครั้งละ 10 นาที วันละ 3-4 ครั้ง และอย่าให้เย็นหรือร้อนเกินไปนะคะ


2. การบำบัดด้วยเลเซอร์ : เลเซอร์ที่ใช้ในการบำบัดรักษา เป็นคลื่นแสงที่ให้พลังงานต่ำ (low-intensity) โดยสามารถผ่านผิวหนังไปได้ลึก 1 – 4 มิลลิเมตร ซึ่งพลังงานจากเลเซอร์จะเพิ่มพลังงานในระดับเซลล์ของบริเวณที่บาดเจ็บ กระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญอาหารของเซลล์  เพิ่มการขับของเสีย และซ่อมแซมตัวเองภายในเซลล์ ทำให้เซลล์ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยลดปวด ลดการอักเสบ และช่วยเร่งให้เกิดการสมานแผล รวมถึงการเชื่อมต่อของกระดูกให้เร็วขึ้นค่ะ 


3. การนวดด้วยคลื่นอัลตร้าซาวนด์ :  การนวดอัลตราซาวด์เป็นการส่งคลื่นเสียงที่มีความถี่สูง ผ่านชั้นเนื้อเยื่อต่างๆ เข้าไปยังส่วนที่เกิดการบาดเจ็บ ซึ่งการส่งคลื่นเสียงจะทำให้โมเลกุลของเนื้อเยื่อเกิดการสั่นสะเทือนแล้วเกิดเป็นพลังงานความร้อนในระดับลึก  2 – 5 เซนติเมตร จึงสามารถลงได้ลึกกว่าการประคบร้อนทั่วไป ทำให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อและเส้นเอ็นได้คลายตัว

การนวดด้วยคลื่นอัลตร้าซาวนด์ช่วยในการลดการปวดเรื้อรังของกล้ามเนื้อและข้อต่อได้ดี 



4. การบำบัดด้วยไฟฟ้า : เป็นการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการบำบัดรักษา โดยมี 2 ประเภท คือ

  • การใช้ไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อให้หดตัว เพื่อคงความแข็งแรง และชะลอการลีบของกล้ามเนื้อ
  • การใช้ไฟฟ้าเพื่อลดความเจ็บปวด โดยเข้าไปปิดกั้นเซลล์ประสาททที่รับรู้ความเจ็บปวด
     
     ในระยะของการ "ลดปวดลดอักเสบ" นี้ หมอจะมีการบ้านให้เจ้าของช่วยกลับไปทำที่บ้าน คือ "การยืดหดข้อต่อและกล้ามเนื้อ" ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด เพิ่มการเคลื่อนไหว ป้องกันไม่ให้ข้อยึด และ คงมวลกล้ามเนื้อไว้ไม่ให้ฝ่อลีบค่ะ จัดเป็นการทำกายภาพบำบัดสุนัขและแมวด้วยขั้นตอนง่าย ๆ ที่ทำที่บ้านเองได้

เราทำได้โดยให้สัตว์เลี้ยงนอนอยู่ในท่านอนตะแคง แล้วทำการยืดหดข้อต่อทุกๆข้อของขาแต่ละข้างช้า ๆ ทำด้วยความระมัดระวัง อย่าฝืนเกินไป ตั้งแต่นิ้วเท้าแต่นิ้ว ไล่ขึ้นไปที่ข้อเท้า ข้อเข่า และ ข้อสะโพกสำหรับขาหลัง หรือ ข้อศอกและข้อไหล่สำหรับขาหน้า ทำข้อละ 20-30 ครั้ง โดยที่เราสามารถเพิ่มการยืดกล้ามเนื้อ (Stretching) ได้โดยการยืดข้อแต่ละข้อค้างไว้ 5-10 วินาที ซึ่งจะช่วยลดการสร้างผังผืดและเพิ่มการเคลื่อนไหว (Range of motion) ได้มากขึ้นค่ะ

โดยหมอจะมีทริคในการทำก็คือ ให้ประคบร้อนก่อนทำการยืดหดกล้ามเนื้อสัก 10 นาที จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ทำให้สามารถทำได้ง่าย และมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ >> วิธีทำกายภาพสัตว์เลี้ยงเองง่ายๆทำได้ที่บ้าน

หลังจากที่เราได้ลดอาการเจ็บปวดลงแล้วขั้นตอนมา ก็คือการกระตุ้น "ฟื้นฟู" เพิ่มความแข็งแรงค่ะ

การทำกายภาพบำบัดสุนัข/แมว/สัตว์เลี้ยง เพื่อ "ฟื้นฟู"

1. การฟื้นฟูโดยการออกกำลังกาย

               วิธีนี้เราเริ่มจากการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวน้อย ๆ หรือมีอุปกรณ์เสริม ไปจนถึงการออกกำลังกายแบบเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง เราจะต้องเลือกชนิดการออกกำลังกายให้เหมาะกับตัวสัตว์เลี้ยง และอาการป่วยที่เป็นอยู่ โดยการออกกำลังกายนั้นมีเป้าหมายให้สัตว์เลี้ยงกลับมาใช้ขาได้ปกติที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และไม่ก่อให้เกิดผลเสียหรืออาการเจ็บที่เพิ่มขึ้น 

ตัวอย่างเช่น การช่วยพยุงยืน (assisted standing exercise)  หรือการฝึกยืนโดยอาศัยสายสะพาย ,ลูกบอล หรือ รถเข็น รวมถึงการฝึกการรับรู้ของขา (propioceptive training) โดยการฝึกยืน และ/หรือ การลงน้ำหนักโดยใช้ exercise ball หรือ balance board ค่ะ

การออกกำลังกายแบบนี้ ต้องอาศัยความสม่ำเสมอในการทำ จึงถือเป็นการบ้านให้เจ้าของช่วยทำในช่วง "ฟื้นฟู"นี้ค่ะ

อย่างไรก็ตามต้องการกายภาพโดยการออกกำลังกายต้องอาศัยระยะเวลา ค่อยเป็นค่อยไป อย่าฝืนมากจนเกินไป ในบางครั้งเราอาจจะต้องอาศัยตัวช่วยพยุง เช่นการใส่สนับเข่า สนับสะโพก หรือ สนับข้อขาเพื่อเพิ่มความมั่นคงของขา ป้องกันไม่ให้เกิดโรคซ้ำด้วยค่ะ
 
2.  ธาราบำบัด (hydrotherapy)

            การทำธาราบำบัด หรือ การออกกำลังกายในน้ำมีประโยชน์อย่างมาก นอกจากจะส่งเสริมให้สุขภาพดีแล้ว ยังเป็นการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่อกระดูกและข้อต่อน้อย และยังมีแรงลอยตัวของน้ำ ที่ช่วยพยุงน้ำหนักตัว จึงป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บอื่นๆตามมา โดยธาราบำบัดที่ได้รับความนิยมปัจจุบัน คือ การว่ายน้ำ และ การเดินสายพานใต้น้ำ (Underwater Treadmill)

อ่านบทความเพิ่มเติม การทำกายภาพบำบัดสุนัข ด้วยการว่ายน้ำหรือการเดินสายพานใต้น้ำ (ธาราบำบัด) ได้ที่นี่ค่ะ
 



         การกายภาพบำบัดทุกประเภท ควรได้รับการดูแลและวางแผนการรักษาโดยสัตวแพทย์ ว่าการทำกายภาพบำบัดแบบใดจึงจะเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อตัวสัตว์เลี้ยง เนื่องจากเครื่องมือกายภาพบางประเภทมีข้อห้ามในการใช้ เช่น หากทำเลเซอร์บำบัดในสุนัขที่เป็นโรคมะเร็งหรือมีเนื้องอก ก็อาจจะทำให้เนื้องอกโตขึ้น มีการแพร่กระจายเร็วขึ้น หรือ การว่ายน้ำเอง หากไม่ได้รับการตรวจร่างกายก่อน อาจจะไม่ทราบว่าสุขภาพสัตว์เลี้ยงแข็งแรงพอที่จะว่ายน้ำหรือไม่ เสียงปอดและเสียงหัวใจเป็นอย่างไร ดังนั้นการทำกายภาพใดๆก็ตาม ควรอยู่ในการดูแลและแนะนำจากสัตวแพทย์ เพื่อให้รักษาได้อย่าง ตรงจุด ตรงกับโรค และดีที่สุดต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงค่ะ

 

........................................................................................

บทความโดย ......สพ.ญ. พรปวีณ์ ธนรัตน์สุทธิกุล




เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้