7737 จำนวนผู้เข้าชม |
สุนัขที่มีปัญหากระดูกเเละข้อ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสื่อม สะบ้าเคลื่อน เอ็นไขว้เข่าขาด หรือ ได้รับอุบัติเหตุจนกระดูกหัก มักต้องเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งนอกจากการผ่าตัดระบบกระดูกเเละข้อเเล้ว การผ่าตัดซ่อมแซมความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกระดูกสันหลัง ก็เป็นวิธีการรักษาใช้ในสัตว์ป่วยหลายกลุ่ม รวมไปถึงสุนัข เช่น กระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังแตก กระดูกสันหลังเคลื่อนที่ หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท รวมถึงสัตว์ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรงจนกระดูกสันหลังและโครงสร้างใกล้เคียงเสียหายด้วย
สุนัขหรือสัตว์ป่วยมักจำเป็นต้องรับการกายภาพบำบัดก่อนและหลังผ่าตัดเพื่อลดอาการเจ็บปวด และรับการฟื้นฟู โดยการกายภาพบำบัดนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการลดระยะการฟื้นตัวเพื่อให้สุนัขหรือสัตว์ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติที่สุด
การกายภาพบำบัดในสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงหลังการผ่าตัด แบ่งได้เป็น 3 ระยะใหญ่ ๆ โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสัตว์ป่วยแต่ละรายไป ดังนี้
1. ภายหลังการผ่าตัดทันที เพื่อลดความเจ็บปวด และลดอาการแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ซึ่งการกายภาพบำบัดในระยะนี้จะได้แก่
ประคบเย็น ภายใน 72 ชั่วโมงแรก โดยใช้ผ้าสะอาดห่อ Ice pack ประคบเย็นบริเวณผ่าตัด 10-15 นาที วันละ 2-3ครั้ง เพื่อช่วยลดการอักเสบและการบวมของแผล
ประคบร้อน ภายหลังการผ่าตัด 72 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด...ระวังอย่าให้ร้อนเกินไปนะคะ
จำกัดบริเวณ
ช่วงนี้อาจจะต้องกั้นพื้นที่ให้สุนัขหรือสัตว์ป่วยโดยเฉพาะ ไม่ให้มีการเคลื่อนไหวที่มากจนเกินไป แต่ต้องช่วยทำการยืดหดขาทั้ง 4 ข้าง เพื่อป้องกันการยึดติดของข้อต่อ
ใช้เครื่องมือกายภาพบำบัด เช่นการทำเลเซอร์พลังงานต่ำ เพื่อช่วยลดการอักเสบ และ กระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้น รวมกับการกระตุ้นไฟฟ้ากล้ามเนื้อขา เพื่อคงมัดกล้ามเนื้อไว้ เนื่องจากในระยะนี้สุนัขหรือสัตว์ป่วยจะสามารถเคลื่อนไหวได้น้อย ป้องกันการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ (อ่านรายละเอียดการใช้เลเซอร์ทำกายภาพบำบัดสุนัขได้ค่ะ)
2. ระยะเริ่มเพิ่มความแข็งแรง เพื่อให้สุนัขหรือสัตว์ป่วยสามารถสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อโดยไม่มีอาการเจ็บปวด ได้แก่
การออกกำลังกายโดยมีผู้ช่วย เช่น การให้ออกแรงต้านขา การยืนบน balance board หรือ egg ball เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ สำหรับสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น โกล้ด้น รีทรีฟเวอร์ หรือ ไซบีเรียนฮัสกี้ อาจจะต้องอาศัยแรงงานกันหน่อยค่ะ
การใช้เครื่องมือกายภาพบำบัด ยังคงมีบทบาทสำคัญ โดยในระยะนี้ แผลผ่าตัดไม่มีการอักเสบแล้ว จะสามารถเลือกใช้เครื่องมือได้มากขึ้น เช่นการอัลตราซาวด์ เพื่อส่งความร้อนระดับลึกเข้าไปช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตบริเวณแผลผ่าตัด เป็นต้น (อ่านรายละเอียดการใช้อัลตราซาวด์ทำกายภาพบำบัดสุนัขได้ที่นี่ค่ะ)
3. ระยะเพิ่มความมั่นคง มีวัตุประสงค์เพื่อให้สัตว์ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ และ คงความแข็งแรง ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ
ในระยะนี้สุนัขหรือสัตว์ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น การใช้เครื่องมือกายภาพจะลดความถี่และบทบาทลง แต่สิ่งที่จะเข้ามามีความสำคัญคือการทำธาราบำบัด ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำ หรือ เดินสายพานใต้น้ำ เพื่อให้สุนัขหรือสัตว์ป่วยได้ออกกำลังกาย เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยไม่มีแรงกระแทก ป้องกันความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุค่ะ (อ่านรายละเอียดธาราบำบัดในสัตว์เลี้ยงได้ที่นี่ค่ะ)
..........................................................................
บทความโดย สพ.ญ. พรปวีณ์ ธนรัตน์สุทธิกุล