24938 Views |
เมื่อน้องหมาน้องแมว...ตาดำไม่เท่ากัน
“ตาดำ” ของน้องหมาน้องแมวที่เจ้าของเรียกกันนั้น จริงๆแล้วคือ “รูม่านตา”ค่ะ ดังนั้นเมื่อเราเห็นว่าตาดำของเจ้าสี่ขานั้นเล็กข้างใหญ่ข้าง จริงๆแล้วในทางสัตวแพทย์เราจะเรียกว่า “ภาวะรูม่านตาขยายไม่เท่ากัน” (anisocoria)
ม่านตาคือส่วนของลูกตาที่มีสีแตกต่างกันไป เช่น สีน้ำตาล สีฟ้า สีเหลือง สีเขียว โดยบริเวณสีดำเป็นส่วนของรูม่านตา รูม่านตาของสุนัขนั้นจะเป็นรูปวงกลม ส่วนของแมวนั้นจะเป็นวงรีค่ะ ม่านตามีหน้าที่ในการตอบสนองต่อแสง ซึ่งถูกควบคุมด้วยกล้ามเนื้อที่สั่งการจากสมองและเส้นประสาทในการหดหรือขยายขนาดของรูม่านตา หากแสงมากรูม่านตาก็จะหดเล็กลง แต่หากแสงน้อยเช่นในเวลากลางคืน รูม่านตาก็จะขยายเพื่อให้รับแสงได้มากขึ้นและมองเห็นภาพได้ดีขึ้น เหมือนกับตอนที่เราปิดไฟตอนจะเข้านอนใหม่ๆทุกอย่างมืดไปหมด แต่พอรูม่านตาปรับตัวขยายใหญ่ขึ้น เราก็จะเริ่มมองเห็นในความมืดได้มากขึ้นค่ะ
ซึ่งโดยปกติรูม่านตาทั้งสองข้างจะหด หรือ ขยายอย่างเท่าๆกัน แต่หากรูม่านตาขยายไม่เท่ากัน อาจบ่งชี้ว่าน้องหมาหรือน้องแมวของเรามีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วค่ะ สาเหตุที่ทำให้พบลักษณะความผิดปกตินี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของกระจกตาหรือโครงสร้างภายในลูกตา ความดันในลูกตาสูงขึ้น การได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง รวมไปถึงความผิดปกติของระบบประสาทส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ในแมว ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสลิวคีเมียในแมว (feline leukemia virus) ด้วยค่ะ
โดยความรุนแรงขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค ในบางครั้งความผิดปกตินี้อาจหายเองได้ หรืออาจคงอยู่โดยไม่ทำให้สูญเสียการมองเห็น นอกจากนี้ในแมวยังพบว่า ภาวะรูม่านตาไม่เท่ากันนี้ 30-40%เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic) ...เกิดเอง....หายเอง...นักเลงพอ เหมือนกับ น้องโพลก้า ที่พบความผิดปกตินี้และเริ่มดีขึ้นเองเมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ ซึ่งในทางสัตวแพทย์เราก็ยังคงหาสาเหตุไม่ได้ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นในตอนนี้ เราคงได้แต่บอกว่า “มันเป็นความแมว” ของเค้าค่ะ
อย่างไรก็ตามใช่ว่าเราควรจะนิ่งเฉยหรือละเลย เมื่อพบว่าเจ้าสี่ขาของเรามีภาวะม่านตาไม่เท่ากัน หากสังเกตเห็นความผิดปกติ ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยตั้งแต่การตรวจร่างกายอย่างละเอียด การใช้ยาหยอดตาเฉพาะสำหรับวินิจฉัย การตรวจโรคไวรัสลิวคีเมีย จนไปถึงการ MRI เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนหากความผิดปกติเกิดจากสมองและระบบประสาท..และรับคำแนะนำหรือรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไปค่ะ
.........................................................
บทความโดย สพ.ญ. วรรษมน หมอยาดี
อ้างอิง.. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6294019/?fbclid=IwAR2Fr_3KeMXFouykXMPRTjSUtAYJQWc2QT9sIsuhbOVbheGhGzkFWfKoIug#!po=1.16279
Photo credit: BMJ journal in practice, Pet central.chewy