เครื่องมือกายภาพบำบัด

         เมื่อสัตว์เลี้ยงมีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระดูกและข้อ หรือโรคระบบประสาท ในอดีตมักต้องอาศัยการผ่าตัด หรือ กินยาบรรเทาอาการเจ็บปวด ซึ่งยาบางชนิดนั้น เมื่อให้กินเป็นระยะเวลานาน ก็อาจเกิดผลเสียต่อร่างกายตามมา โดยเฉพาะตับและไตที่มีหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย ปัจจุบันจึงมีการศึกษาเกี่ยวกับการทำกายภาพบำบัดในสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยเฉพาะในสุนัขและแมว และพบว่า เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือ กายภาพบำบัดมีความสำคัญอย่างมากในการรักษาอาการต่าง ๆ โดยช่วยลดความเจ็บปวด เร่งการฟื้นฟูของร่างกาย แก่สัตว์เลี้ยงที่มีความพิการ หรือเสื่อมสมรรถภาพทางกาย เพื่อให้สัตว์เลี้ยงสามารถกลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงกับปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากที่สุด
การบำบัดด้วยเลเซอร์ (Laser therapy)

           เลเซอร์ที่ใช้ในการบำบัดรักษา เป็นคลื่นแสงที่ให้พลังงานต่ำ (low-intensity) โดยสามารถผ่านผิวหนังไปได้ลึก 1 – 4 มิลลิเมตร ซึ่งพลังงานจากเลเซอร์จะเพิ่มพลังงานในระดับเซลล์ของบริเวณที่บาดเจ็บ กระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญอาหารของเซลล์ ทำให้เซลล์ทำงานได้ดีขึ้น และหลอดเลือดขยายตัว ข้อดีของการบำบัดด้วยเลเซอร์คือ ช่วยลดปวด ลดการอักเสบ และช่วยเร่งให้เกิดการสมานแผลได้เร็วขึ้น    

 การนวดอัลตราซาวด์ (Ultrasound therapy)

การนวดอัลตราซาวด์เป็นการส่งคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงเกินกว่าที่มนุษย์จะสามารถรับฟังได้ ผ่านชั้นเนื้อเยื่อต่างๆ เข้าไปยังส่วนที่เกิดการบาดเจ็บ ซึ่งการส่งคลื่นเสียงจะทำให้โมเลกุลของเนื้อเยื่อเกิดการสั่นสะเทือนในระดับลึก  2 – 5 เซนติเมตร แล้วเกิดความร้อนขึ้น ซึ่งความร้อนนี้ จะทำให้เกิดปฏิกิริยาให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อและเส้นเอ็นได้คลายตัว มีผลช่วยในการลดปวด และทำให้เส้นเลือดขยายตัว เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ซึ่งในทางสัตวแพทย์ส่วนมากมักจะใช้ในสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหากระดูกและข้อ

การบำบัดด้วยไฟฟ้า (electrotherapy)

          เป็นการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการบำบัดรักษา โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1.  การใช้ไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อให้หดตัว เพื่อคงความแข็งแรง และชะลอการลีบของกล้ามเนื้อ

2.  การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเพื่อลดความเจ็บปวด จากการที่เข้าไปปิดกั้นเซลล์ประสาททที่รับรู้ความเจ็บปวด
Therapeutic exercise หรือ การออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษา
 คือการเคลื่อนไหวร่างกายสัตว์ป่วย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น ซึ่งวิธีที่นิยมใช้ในทางสัตวแพทย์ได้แก่
การออกกำลังกายเพื่อคงพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ
(range of motion  : ROM) เป็นการยืดหดข้อต่อ เพื่อรักษาความยืดหยุ่น
ฝึกการลงน้ำหนัก เช่น การยกขาข้างใดข้างหนึ่งขึ้น แล้วให้ยืน 3 ขา,
การยกขาหน้ากับขาหลังสลับกัน,การฝึกสุนัขให้ลุกนั่ง หรือ ใช้อุปกรณ์
balance board และ egg ball
การออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strengthening) 
ซึ่งจะทำก็ต่อเมื่อสัตว์ป่วยไม่เเสดงอาการเจ็บแล้ว
โดยการทำธาราบำบัดด้วยการว่ายน้ำ หรือ เดินสายพานใต้น้ำ เป็นต้น 
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy