วิธีดูแลน้องหมาน้องแมวอัมพาต

30864 Views  | 

วิธีดูแลน้องหมาน้องแมวอัมพาต

วิธีดูแลน้องหมาน้องแมวอัมพาต

        เมื่อสัตว์เลี้ยงได้รับอุบัติเหตุ หรือ อายุมากขึ้น ร่างกายเสื่อมลงตามวัย ส่งผลการทำงานของระบบประสาท ทำให้มีอาการเดินขากะแผลก ขาอ่อนแรง เดินไม่ได้ หรือกลายเป็นอัมพาต ซึ่งอย่างหลังสุดนี้ นอกจากจะทำให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้แล้ว  ยังส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ไม่สามารถพลิกตัวเองได้เกิดเป็นแผลกดทับตามตัว หรือ ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้จนเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบตามมาด้วย..แล้วเราจะสามารถช่วยเหลือน้องหมาน้องแมวของเราที่เป็นอัมพาตได้อย่างไร

        ภาวะอัมพาตในสัตว์เลี้ยง มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากโรคของไขสันหลัง ไม่ว่าจะเป็นหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท (คลิก..อ่านโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท) เนื้องอก หรืออุบัติเหตุ โดยความรุนแรงของโรค และการพยากรณ์โรคจะประเมินได้จากระดับของผการอัมพาต ซึ่งแบ่งได้ 5 ระดับ คือ

 ระดับ 1 สัตว์ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดที่คอ หรือหลัง เจ้าของจะสังเกตว่าน้องมีอาการซึม ไม่ค่อยยอมเดิน ไม่ยอมให้จับ หรือจับแล้วร้อง เกร็งตัว ยืนหลังโก่ง เป็นต้น

 ระดับ 2 สัตว์ป่วยมีการรับรู้ของขาน้อยลง ขาอ่อนแรง แต่ยังสามารถเดินได้อยู่ เจ้าของจะสังเกตว่าน้องจะเดินปัดๆ เดินได้ไม่นานก็จะล้ม

 ระดับ 3 สัตว์ป่วยจะไม่สามารถเดินได้

 ระดับ 4 สัตว์ป่วยจะไม่สามารถยืน เดิน และปัสสาวะเองได้ (เมื่อกระเพาะปัสสาวะขยายเต็มที่ ปัสสาวะจะเล็ดออกมา ทำให้เจ้าของเข้าใจผิดว่าน้องยังปัสสาวะเองได้)

 ระดับ 5 สัตว์ป่วยไม่สามารถขับถ่ายเองได้ และขาไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด


     สัตว์ป่วยอัมพาตในระดับที่ต่างกันจะมีแนวทางการรักษา และพยากรณ์โรคที่ต่างกัน โดยสัตว์ป่วยที่เป็นอัมพาตระดับ 3-5 ต้องได้รับการวินิจฉัย และรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มโอกาสในการกลับมาเดินได้ แต่ถ้าน้องไม่สามารถกลับมาเดินได้ การดูแลที่ดีก็จะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ค่ะ สิ่งสำคัญในการดูแลสัตว์ป่วยอัมพาตคือ “ความสะอาด และความสม่ำเสมอ”

           "ความสะอาด" เป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆในสัตว์ป่วยอัมพาต เพราะสัตว์ป่วยอัมพาตมักจะมีแผลกดทับ รวมทั้งมีอุจจาระ และปัสสาวะเปรอะเปื้อนตามตัวจากการที่ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ หากทิ้งไว้จะทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ และแผลเกิดการติดเชื้อได้

           "ความสม่ำเสมอ" ทั้งการป้อนน้ำและอาหาร การช่วยบีบกระเพาะปัสสาวะ พลิกตัว และการทำกายภาพบำบัด

 การป้อนอาหาร ควรแบ่งเป็นมื้อย่อยๆอย่างน้อย 2 มื้อต่อวัน โดยปริมาณอาหารจะคำนวณได้จากน้ำหนักตัวของสัตว์ป่วย ส่วนมากจะสามารถดูเทียบจากข้างถุง หรือกระป๋องอาหารได้เลยค่ะ แต่ปริมาณดังกล่าวจะเป็นปริมาณต่อวัน ต้องนำมาหารจำนวนมื้อก่อนนะคะ


 การป้อนน้ำ ให้แบ่งป้อนทุก 2 - 4 ชั่วโมง โดยปริมาณน้ำที่ควรได้รับคือ 50 ซีซีต่อน้ำหนักตัว 1กิโลกรัมต่อวัน เช่น สุนัขหนัก 5 กิโลกรัม ต้องได้รับน้ำ 250 ซีซีต่อวัน เป็นต้น
** ในกรณีที่สัตว์ป่วยอัมพาตทั้ง 4 ขา ขณะป้อนอาหาร หรือน้ำให้ประคองลำตัวขึ้น เพื่อลดโอกาสการสำลักน้ำหรืออาหาร และไม่ควรให้ปริมาณมากๆภายในครั้งเดียว เพราะทำให้ท้องอืดได้ค่ะ



 การช่วยบีบกระเพาะปัสสาวะ สัตว์ป่วยอัมพาตมักจะไม่สามารถปัสสาวะเองได้ จึงต้องช่วยบีบนวดกระเพาะปัสสาวะทุก 4 - 6 ชั่วโมง เพื่อลดโอกาสการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยการบีบนวดกระเพาะปัสสาวะ จะใช้มือคลำ และนวดไปที่ช่องท้องระหว่างเต้านมสองคู่สุดท้าย กรณีสุนัขตัวใหญ่ หรืออ้วน จะทำได้ยาก อาจจำเป็นต้องสวนท่อปัสสาวะขึ้นกับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ที่ดูแล ถ้าเจ้าของพบปัสสาวะขุ่น หรือมีเลือดปนในขณะช่วยบีบนวดกระเพาะปัสสาวะ หรือในท่อสวน ควรพาน้องไปพบสัตวแพทย์
** ในสัตว์ป่วยที่สวนท่อปัสสาวะ บางครั้งอาจพบปัญหาปัสสาวะไม่ออกมาจากท่อ หรือออก น้อยลง อาจเกิดจากท่อถอนออกมา เจ้าของควรพาพบสัตวแพทย์ไม่ควรดันท่อเข้าไปเอง เพราะ อาจทำให้ท่อพับได้
 

 การพลิกตัว สัตว์ป่วยอัมพาตที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวเองได้ ต้องช่วยพลิกตัวทุก 4 - 6 ชั่วโมง เพื่อลดโอกาสเกิดแผลกดทับ วิธีการพลิกตัว ต้องจับสัตว์ป่วยให้อยู่ในท่านอนคว่ำก่อน แล้วค่อยพลิกเอาอีกข้างลง ไม่ให้พลิกในท่านอนหงายเพราะจะทำให้เกิดภาวะกระเพาะบิดได้ นอกจากการพลิกตัวที่ช่วยลดการเกิดแผลกดทับแล้วการเลือกที่นอนที่เหมาะสำหรับสัตว์ป่วยอัมพาตก็มีส่วนช่วยด้วยเช่นกันค่ะ ที่นอนที่เหมาะสมคือที่นอนที่ช่วยลดแรงกดทับบริเวณปุ่มกระดูก อาจจะเป็นฟูกหนาๆ หรือเตียงลม
**หากต้องป้อนน้ำหรืออาหาร ในช่วงเวลาเดียวกับการพลิกตัว แนะนำให้พลิกตัวก่อนแล้วค่อยป้อนค่ะ



 การทำกายภาพ แนะนำให้ทำการยืดหดขา วันละ 2 – 3 ครั้งๆละ 15 – 30 ที เพื่อลดการยึดติดของข้อต่อ และชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ (ดูวิธีช่วยกายภาพง่ายๆ ทำได้ที่บ้าน <<คลิก>> ) แนะนำให้พา ในกรณีที่สัตว์ป่วยอัมพาต 2 ขาหลัง เดินด้วยการใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง หรือวีลแชร์ วันละ 2-3 ครั้งๆละ 15 นาที
** ในช่วง 6 สัปดาห์แรกของสัตว์ป่วยที่เริ่มเป็นอัมพาต หรือได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ต้องจำกัดบริเวณ งดการพยุง หรือจูงเดินค่ะ

กายอุปกรณ์สำหรับสัตว์ป่วยอัมพาต

        ภาวะอัมพาต อาจจะฟังดูน่ากลัว แต่หากเราช่วยกันดูแลความสะอาด และ หมั่นทำกายภาพอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้สัตว์เลี้ยงของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น เหมือนกับเรื่องราวของ "น้องหมานักสู้..ไป่ไป๋<<คลิก>>"ค่ะ



……………………………………………

บทความโดย...สพ.ญ. อภิลักษณ์ มหัธนันท์

 

Photo credit: bored panda, Lil back bracer, Pet gazette และ TheRehabVet

This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy