30908 Views |
โรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัขนี้ พบได้บ่อยในน้องหมาพันธ์เล็ก เช่น ปอมเปอเรเนียน ชิวาวา และ ยอร์คเชียเทอเรีย
“สะบ้า”หรือ “ลูกสะบ้า (patellar) เป็นกระดูกที่มีลักษณะกลมรี แบนๆ วางอยู่บนร่องกลางหัวเข่า โดยมีเอ็นรวมยึดเอาไว้ให้อยู่ในเบ้าสะบ้า เมื่อใดก็ตามที่มีปัจจัยโน้มนำ เช่น เบ้าสะบ้าตื้นหรืออุบัติเหตุ ก็มีโอกาสที่สะบ้าจะเคลื่อนออกจากเบ้าสะบ้าได้
โดยในสุนัขพันธุ์เล็กมักเป็นการเคลื่อน "เข้าด้านใน" ส่วนในสุนัขพันธ์ใหญ่ มักเป็นการเคลื่อน "ออกด้านนอก" ค่ะ นอกจากนี้โรคนี้ยังถ่ายทอดทางพันธุกรรมอีกด้วยนะคะ
การเคลื่อนของสะบ้าแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 ในระยะนี้น้องหมาอาจยังไม่มีอาการเจ็บหรือเดินผิดปกติเลยค่ะ แต่เมื่อสัตวแพทย์คลำตรวจจะพบว่า เวลาใช้มือจับดัน ลูกสะบ้าจะเลื่อนหลุดออกมาได้ง่าย แต่เมื่อปล่อยก็จะเด้งกลับมาอยู่ในร่องเดิมได้
ระดับที่ 2 ลูกสะบ้าหลุดออกจากร่องได้ง่ายขึ้น น้องหมาบางตัวเริ่มมีอาการเดินแปลกไป เช่น เดินยกขาหลังข้างใดข้างหนึ่ง และเริ่มแสดงอาการร้องเจ็บขา เมื่อลูกสะบ้าหลุดบ่อยครั้งเข้าจะเกิดการเสียดสี ทำให้กระดูกอ่อนที่ผิวข้อถูกทำลายและทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมในสุนัขตามมา
ระดับที่ 3 น้องหมาแสดงอาการขาหลังกะเผลกมากขึ้น เป็นบ่อยขึ้น ขาโก่ง หรือไม่ลงน้ำหนัก ลูกสะบ้าที่เคลื่อนออกไปอยู่นอกร่องนั้นเคลื่อนไปมากกว่า 30-50องศา สัตวแพทย์อาจสามารถดันลูกสะบ้ากลับได้ แต่ไม่นานสะบ้าก็จะเคลื่อนกลับออกไปอยู่นอกร่องเหมือนเดิม
ระดับที่ 4 ลูกสะบ้าหลุดอออกนอกร่องอย่างถาวร โครงสร้างของขาเปลี่ยนไป จะไม่สามารถดันลูกสะบ้าให้กลับเข้าร่องได้เลยค่ะ
การรักษาโรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัข ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค โดยหากเป็นไม่มากในระดับที่ 1 อาจจะใช้วิธีการรักษาทางยา ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดสุนัข และควบคุมน้ำหนัก
แต่ถ้ามีอาการระดับ 2 ขึ้นไป อาจต้องรับการผ่าตัดร่วมกับการทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ โดยหลังการผ่าตัด 72 ชั่วโมงแรก ให้ประคบเย็นบริเวณที่ผ่าตัด เพื่อช่วยลดการอักเสบและลดบวม หลังจากนั้นจึงเริ่มใช้เครื่องมือกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดด้วยเลเซอร์ช่วยลดความเจ็บปวด (เลเซอร์บำบัด คืออะไร <<คลิก>> ) และกระตุ้นการหายของแผล และการทำธาราบำบัดในสุนัขเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ และทำให้การทำงานของข้อต่อดีขึ้น
ในบ้างครั้งสัตวแพทย์อาจแนะนำให้ใส่สนับเข่าเพื่อช่วยพยุงการลงน้ำหนัก และ ป้องกันการเกิดโรคซ้ำค่ะ
**ข้อควรระวัง** คือ ถึงแม้ผ่าตัดแก้ไขแล้ว ก็มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดสะบ้าเคลื่อนได้ใหม่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นคอยดูแล หลีกเลี่ยงไม่ให้ น้องหมากระโดดขึ้นๆ ลง ๆ ยืนสองขา หรือวิ่งขึ้นลงบันไดเร็ว ๆ หรือวิ่งบนพื้นลื่น
นอกจากนี้ยังควรไถขนเท้าให้น้องสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก และ พาออกกำลังกายเป็นประจำ โดยการออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับน้องหมาที่เป็นโรคนี้คือ การทำธาราบำบัด ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำ หรือ เดินสายพานใต้น้ำ เนื่องจากเป็นการออกกำลังที่มีแรงกระแทกต่ำ และ ส่งผลเสียต่อตัวข้อน้อยที่สุดค่ะ (ธาราบำบัด...ตัวช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวในสัตว์เลี้ยง <<คลิก>> )
..................................................................................................................
บทความโดย สพ.ญ. พรปวีณ์ ธนรัตน์สุทธิกุล
เครดิตภาพ : ApplecrossVet, PetMD