30649 Views |
การตั้งท้องและการคลอดของน้องหมานั้นเป็นอย่างไร …?
เมื่อลูกสาว (น้องหมา) ของเราตั้งท้อง โดยเจตนา หรือไม่เจตนาก็ตามปัญหาอย่างหนึ่งที่ท่านเจ้าของสุนัขมือใหม่มักจะกังวล คือ เจ้าลูกสาวเรามันจะคลอดเมื่อไหร่ วันนี้หมอจะมาสรุปให้ทุกท่านทราบกันครับน่าจะ เป็นทางที่ช่วยให้เจ้าของสามารถดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเองได้อย่าง เข้าใจและลดความเสี่ยงของการ “คลอดยาก” ได้
แบบที่ 1 ถ้าทราบวันตกไข่
ถ้าทราบวันตกไข่ (การทราบวันตกไข่ต้องได้รับ การตรวจฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ของแม่สุนัขทั้งก่อนและช่วง ผสม แต่วิธีนี้ก็มีค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร)
“วันคลอด = วันตกไข่ + 63 +/- 1 วัน”
โดยนับวันตกไข่เป็นวันที่ 1 (Day 1) เช่น ถ้าเราทราบว่าวันตกไข่ของน้องหมา
(จากการตรวจฮอร์โมน) เป็นวันที่ 1 เมษายน ดังนั้นจะคลอดวันที่ 1, 2 หรือ 3 มิถุนายน ไม่เกินนี้
วิธีนี้จะค่อนข้างแม่นยำมาก แต่ก็มีน้อยรายที่จะใช้วิธีนี้ เพราะเจ้าของต้องมีความตั้งใจมากๆ ที่อยากได้หลานมาเชยชม และความตั้งใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้เงินด้วยครับ เพราะการตรวจฮอร์โมนค่าใช้จ่ายค่อนข้างจะเอาเรื่องพอสมควร แต่วิธีนี้ก็ถือว่าเป็นวิธีที่เชื่อถือได้ดีที่สุดครับ
แบบที่ 2 ถ้าไม่ทราบวันตกไข่ แต่ทราบวันผสมเพียงอย่างเดียว
ถ้าไม่ทราบวันตกไข่ แต่ทราบวันผสมเพียงอย่างเดียวซึ่งท่านเจ้าของทั่วไป ประมาณ 40% มักจะเป็นเช่นนี้ เพราะเราคงไม่ได้ไปตรวจเลือดแม่หมาเพื่อจะหาวันผสม ถ้าไม่ใช่แม่สุนัขที่มีราคา แพงหรือเคยผสมเท่าไหร่แล้วก็ไม่ติดซะที ก็อย่างที่เรียนแล้วว่าวิธีแรก ค่อนข้างทุ่มทุนสร้างพอสมควร ส่วนมากท่านเจ้าของสัตว์เลี้ยงก็จะใช้วิธีจำวันผสมเอาว่า ลูกสาวเราถูกผสมจากลูกเขยวันไหนบ้าง แล้วค่อยมาบอกคุณหมอเวลาที่จะมาฝากท้อง (ของน้องหมานะครับไม่ใช่คน) ดังนั้น การกำหนดวันคลอดแบบนี้ จะกว้างมาก คือ ประมาณ 57 – 72 วัน นับตั้งแต่ผสมพันธุ์ “วันแรก”
ท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมมันกว้างอย่างนี้ ไหนหมอว่าหมาแมวมันตั้งท้อง แค่ 2 เดือนเท่านั้น คำตอบก็คือ อายุครบกำหนดของลูกที่อยู่ในท้อง ถูกกำหนดด้วยวันที่ไข่ตกของแม่ ที่จริงมันก็แค่ 60กว่าวันเท่านั้น แต่ถ้าเรานับวันที่ผสม ก็จะเกิดเหตุการณ์ที่ว่า ถ้าลูกสาวเราถูกผสมก่อนวันที่ไข่ตก น้ำเชื้อของตัวผู้ก็จะต้องเข้าแถวไปรอคิวไข่ตกซะก่อนจึงจะเข้าผสมได้ ดังนั้น เวลาที่นับจากวันผสม จึงดูเหมือนนานกว่าปกติ แต่แท้จริงแล้วก็ปกตินะครับ เพราะหมายความว่า “วันคลอด = วันที่ถูกผสม (น้ำเชื้อเข้าไปรอก่อนไข่ตก ) + อายุท้องจริงๆ (ประมาณ 63 วัน)ทั้งหมดก็จะตกอยู่ประมา ณ 70-72 วัน”
*** นี่คือเหตุผลว่า ทำไมถึงมีตัวเลขที่เกิน 60 วัน
ส่วนในกรณีที่ผสมหลังวันไข่ตก วันคลอดก็จะสั้นกว่า เพราะไข่ตกและไข่สุกแล้วพร้อมผสม เมื่อมีการผสม น้ำเชื้อก็สามารถเข้าผสมกับไข่ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ เหมือนกับถึงฤกษ์แล้ว เจ้าบ่าวมาสายเล็กน้อย แต่ก็ยังไม่สายเกินไป เจ้าสาวให้อภัยได้ ในกรณีนี้เจ้าสาวก็เต็มใจไปเปิดประตูรับแทบไม่ทันเลยทีเดียว ดังนั้น ระยะเวลาตั้งท้องดูสั้นกว่าปกติ แต่ก็เป็นปกติ ประมาณช่วง 57-63 วัน
ถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านอาจจะมีข้อสงสัยว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเจ้าลูกเขยตัวดี ผสมกับลูกสาวของเรา ก่อนหรือหลังไข่ตกล่ะ?? คำตอบก็คือ เราสามารถใช้เครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วยวินิจฉัยประมาณการได้ เช่น การใช้เอ็กซ์เรย์ ที่จะดูจำนวนลูกอ่อนในท้อง จะทำได้ก็ต่อเมื่ออายุท้องมากกว่า 45 วันขึ้นไป ถ้าจำนวนลูกในท้องมีมากเหมาะสมกับขนาดและพันธุ์ของแม่ เช่น พันธุ์ Poodle Toy จะมีลูกประมาณ 2-3 ตัว พันธุ์ Golden retriever มีลูก 9-10 ตัว พันธุ์ Rottweiler มีลูก มากกว่า 9 ตัว ถ้าสุนัขของเรามีลูกประมาณน ี้แสดงให้เห็นว่า การผสมนั้นค่อนข้างตรงกับวันไข่สุกมาก จึงได้ลูกที่มีจำนวนมาก ดังนั้นจึงนับประมาณ วันคลอดได้ = 63 +/- 1 วัน จากวันผสมวันแรกได้เลย
แบบที่ 3 คือไม่ทราบวันอะไรเลย
ส่วนใหญ่พวกเราก็จะเป็นแบบนี้ ในกรณีนี้มักจะเกิดกับการตั้งท้องที่ไม่ได้ตั้งใจ เช่น พออยู่ๆไป เจ้าลูกสาวตัวดี ก็กินเก่งขึ้นอ้วนเอาอ้วนเอา แต่ไม่อ้วนที่อื่น ดันมาป่องที่ท้องอย่างเดียว แถมนมยังตั้งเต้าเอาอีก ทีนี้ละครับงานเข้า เพราะไม่สามารถกำหนดอะไรได้เลย จะใช้สูตรอะไรมาคำนวนก็ไม่ได้ แต่ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะเราก็พอมีตัวช่วยอยู่บ้าง ก็คือ รีบพาไปหาคุณหมอโดยทันที เพื่อให้คุณหมอตรวจสุขภาพคุณแม่ ว่ามีปัญหาโรคแทรกซ้อนอื่นใดหรือไม่ที่จะทำอันตรายต่อคุณแม่และคุณลูกในท้อง พร้อมทั้งเอ็กซ์เรย์และอัลตร้าซาวด์ ดูความสมบูรณ์ของคุณลูกด้วย หลังจากนั้น คุณหมอก็จะกำหนดวันคลอดให้คร่าวๆ
มีตัวช่วยอีกตัวหนึ่งที่จะทำให้การกำหนดคลอดได้ใกล้เคียงมากก็คือ การเจาะเลือดตรวจระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนและการวัดปรอท แต่โดยทั่วไปเราจะไม่ค่อยเจาะฮอร์โมนกันเท่าไหร่ เพราะจะต้องเจาะทุกวัน หรือบางทีอาจจะทุกครึ่งวันก็เป็นได้ เพราะฮอร์โมนตัวนี้เมื่อใกล้คลอดมันจะลดลงเร็วมาก และราคาก็แสนแพง ดังนั้น เราจึงนิยมวิธีข้างเคียงแทน โดยการวัดปรอท เพราะโดยธรรมชาติเวลาที่ฮอร์โมนตัวนี้ลดต่ำลงเมื่อใกล้คลอด มันจะดึงเอาอุณหภูมิของร่างกายแม่ลงต่ำลงด้วย แต่เราจะต้องวัดปรอทให้เป็น วิธีการวัดก็คือ ใช้ปรอทวัดไข้ของคน วัดทางทวารหนักของน้องหมา โดยเสียบปรอทให้ลึกพอสมควรประมาณ 3-4 เซนติเมตรจากปากทวารหนัก และปลายปรอทจะต้องดันให้ติดผนังด้านใดด้านหนึ่งของลำไส ้ใหญ่จริงๆ โดยวัดนาน 1 นาที และก่อนจะวัด แม่สุนัขจะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม เช่น พึ่งเอาไปอาบน้ำมาใหม่ๆ หรือหลังจากกลับมาจากเดินเล่น หรือสุนัขมีการตื่นเต้นมาก เป็นต้น และจะต้องวัดทุก 6 ชั่วโมง โดยเฉพาะถ้าอยู่ในระยะที่ใกล้กำหนดคลอด
อุณหภูมิร่างกายของแม่สุนัข ปกติจะประมาณ 101 – 102.4 องศาฟาเรนต์ไฮต์ ถ้าเราวัดแล้วพบว่า อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 98.1 – 100 องศาฟาเรนต์ไฮต์ ก็แสดงว่าไม่น่าจะเกิน 24 ชั่วโมง เด็กน้อยก็จะออกมาดูโลกแล้ว มักพบว่า อุณหภูมิจะต่ำกว่า 100 องศาฟาเรนต์ไฮต์ ในช่วง หนึ่งวันครึ่งก่อนคลอด และพบว่า ต่ำกว่า 99 องศาฟาเรนต์ไฮต์ ในช่วงครึ่งวัน ถึงไม่เกินหนึ่งวันคลอด ซึ่งวิธีนี้ก็จะเป็นวิธีที่ คุณหมอนิยมสอนใช้ท่านเจ้าของสัตว์เลี้ยงกลับไปทำที่บ้า นได้...
จากทั้งหมดที่กล่าวมา การทราบวันกำหนดคลอดของน้องหมา ก็จะทำให้เราลดความเสี่ยงใน การคลอดทั้งแม่และลูกลงได้มากทีเดียว....
..............................................................................................................................................................................................
บทความโดย
น.สพ.นพกฤษณ์ จันทิก