การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับภาวะฉุกเฉินในสัตว์เลี้ยง

56422 Views  | 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับภาวะฉุกเฉินในสัตว์เลี้ยง

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับภาวะฉุกเฉินในสัตว์เลี้ยง


            อุบัติเหตุและภาวะฉุกเฉินอาจเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงของเราเมื่อไรก็ได้  การเริ่มปฐมพยาบาลที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว อาจช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต หรือลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงของเราได้ค่ะ

เมื่ออยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน สิ่งแรกที่ทุกคนควรทำ คือ “การประเมินอาการสัตว์ป่วยวิกฤต” ค่ะ

1. ตรวจสอบการมีสติโดยการเรียกชื่อ หยิกปลายเท้าดูการตอบสนองต่อการสัมผัส ใช้ไฟฉายส่องตาดูการหดตัวของม่านตาตอบสนองต่อแสง แตะหัวตาดูการกระพริบตา หากสัตว์เลี้ยงไม่ตอบสนอง ถือว่าอยู่ในภาวะโคม่า จำเป็นต้องรีบนำส่งตัวให้ถึงมือสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุดค่ะ

2. ตรวจสอบการหายใจ จากการเคลื่อนไหวของช่องอก ร่วมกับการตรวจดูสิ่งแปลกปลอม หรือสิ่งคัดหลั่งที่อาจไปอุดตันช่องจมูกและช่องปาก หากพบสิ่งอุดตัน ให้จับสัตว์เลี้ยงนอนตะแคง จัดคอยืดตรง ดึงลิ้นออกจากปากแล้วล้วงเอาสิ่งที่อุดตันออกจากช่องปาก เพื่อให้สัตว์เลี้ยงสามารถหายใจได้ค่ะ

3.  ตรวจสอบการเต้นของหัวใจ โดยใช่ฝ่ามือแตะลงไปบริเวณหน้าอก ใกล้ๆกับศอก หากสัตว์เลี้ยงหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น จะต้องรีบทำการช่วยชีวิต (cardiopulmonary resuscitation, CPR) ในทันทีค่ะ

ขั้นตอนการประเมินอาการสัตว์ ก่อนให้ความช่วยเหลือ

A: เปิดทางเดินหายใจ B: ตรวจการเต้นของหัวใจและชีพจร C: ตรวจการตอบสนองของหนังตา D: ตรวจการตอบสนองของม่านตา E: ตรวจการตอบสนองของปลายเท้า

(First aid and home care, พิสิทธิ์ สุวรรณโชติ)

 

วิธีการทำ CPR หรือ การช่วยชีวิต

จับสัตว์เลี้ยงนอนตะแคง แล้วทำการนวดหัวใจ โดยวางมือทั้ง 2 ข้างลงบนอกสัตว์เลี้ยงหลังข้อศอก กดมือให้ได้ความลึก 1/3-1/2 ของช่องอก ทำติดต่อกัน 30 ครั้งโดยแต่ละครั้งให้ห่างกัน 1 วินาที จากนั้นให้เริ่มผายปอดโดยวิธีปากต่อจมูก 2 ครั้ง ทำสลับกันไปจนกว่าหัวใจจะเต้นแล้วจึงผายปอดอย่างเดียว  หรือทำจนกว่าจะถึงมือสัตวแพทย์ค่ะ

  • สุนัขที่ช่องอกลึกหรือกลม เช่น บลูด็อก ให้จับสุนัขนอนหงายกดมือทั้ง 2 ลงไปที่ช่องอกโดยตรง
  • สุนัขพันธุ์เล็กน้ำหนักน้อยกว่า 10 กิโลกรัม และแมว สามารถใช้มือข้างที่ถนัดจับไปที่ช่องอกหลังรักแร้แล้วบีบนิ้วมือกดช่องอกโดยตรงค่ะ

             
        การนวดหัวใจในสุนัขที่มีช่องอกกลม                              การนวดหัวใจในสุนัขขนาดกลางถึงขนาดใหญ่

                       

              การนวดหัวใจในสัตว์ขนาดเล็ก                                            การผายปอด

(Journal of Veterinary Emergency and Critical Care 22(S1) 2012)

 

 

 

การช่วยเหลือในภาวะต่างๆ ก่อนส่งถึงมือสัตวแพทย์

1. อุบัติเหตุ/ โดนกัด

หากเกิดบาดแผลและมีเลือดออก ให้ทำการห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาดกดไปที่บาดแผล หรือพันทับแผลให้กระชับไม่แน่นหรือหลวมไปเพื่อห้ามเลือด

- หากมีบาดแผลบริเวณช่องอก หรือช่องอกทะลุ ให้ใช้ผ้ากดบริเวณแผล แล้วจับสัตว์นอนตะแคงเอาด้านที่มีแผลลงด้านล่าง เพื่อให้ปอดข้างปกติทำงานได้อย่างเต็มที่

- หากมีแผลทะลุช่องท้องมีอวัยวะบางส่วนหลุดออกมา ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำหมาดๆ กดหรือพับรอบแผลก่อนเคลื่อนย้าย

- หากมีเลือดออกจากจมูกหรือเลือดกำเดาไหล ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือห่อน้ำแข็งวางบนสันจมูก

      หลังจากทำการห้ามเลือดแล้ว ให้เคลื่อนย้ายสัตว์อย่างระมัดระวัง อาจใช้ผ้าหรือ แผ่นกระดานสอดเข้าด้านล่างตัวสัตว์ทำเป็นเปลสำหรับหาม ในกรณีที่สัตว์เคลื่อนไหวไม่ได้ หมดสติ กระดูกหัก หรือสงสัยว่าได้รับการกระแทกในส่วนของกระดูกสันหลัง แต่ถ้าสัตว์สามารถลุกได้อาจใช้วิธีการอุ้มช้อนส่วนอกและบั้นท้าย หันด้านที่มีแผล หรือขาข้างที่หักออกจากตัวผู้อุ้มค่ะ

การเคลื่อนย้ายสัตว์โดยใช้ผ้า

(First aid and home care, พิสิทธิ์ สุวรรณโชติ)

2. Heat stroke

            ในภาวะอากาศร้อนที่ส่งผลให้สัตว์มีอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น มีอาการหอบ ซึม น้ำลายไหลมาก เหงือกสีแดงสด ปลายเท้าและหูร้อน บางรายถ่ายเหลวเป็นเลือด อาจรุนแรงถึงหมดสติ และเสียชีวิตได้

            ให้รีบเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังที่ๆ มีอากาศถ่ายเทและเย็นกว่า และ รีบพาไปพบสัตวแพทย์ โดยระหว่างทางให้เช็ดน้ำลายออกจากปากของสัตว์ป่วยเพื่อให้หายใจสะดวก เช็ดตัวด้วยน้ำเย็นแต่อย่าให้เย็นจัดจนเกินไป และให้สัตว์ดื่มน้ำเองได้ตามต้องการ

            ภาวะ Heat stroke แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว ควรฝากน้องหมาน้องแมวไว้กับสัตวแพทย์ก่อน เพื่อเฝ้าระวังภาวะไตวาย ปัสสาวะและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด รวมถึงภาวะเลือดออกทั่วร่างกายที่อาจเกิดจากความร้อนค่ะ

3. โดนสัตว์มีพิษ

          กรณีสงสัยว่าโดนงูกัด มีอาการตัวสั่น ตื่นเต้น อาเจียน น้ำลายไหล ม่านตาขยาย หรือล้มลงทันที หากทราบตำแหน่งที่โดนกัดให้ล้างบริเวณนั้นด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากๆ ให้น้ำแข็งประคบเพื่อลดการไหลเวียนของเลือด ถ้าโดนกัดบริเวณขาอาจใช้ผ้าพันรอบบริเวณนั้นให้แน่น เพื่อชะลอการกระจายของพิษก่อนนำส่งสัตวแพทย์

            หากโดนผึ้งและตัวต่อต่อย จะทำให้เกิดการบวมและเจ็บปวด บางตัวอาจแสดงอาการแพ้พิษ เช่น การบวมตามใต้ผิวหนังทั่วร่างกาย อาเจียน ท้องเสีย หน้าบวม หายใจไม่สะดวก ถ้าอาการยังไม่รุนแรงให้พยายามดึงเหล็กในออก และใช้น้ำแข็งประคบลดอาการปวดและบวมได้ แต่ถ้ารุนแรงให้นำส่งสัตวแพทย์ทันที

            คางคกและตัวบุ้ง เมื่อสัตว์ได้รับพิษโดยการสัมผัสโดยเฉพาะบริเวณปากและลิ้น จะทำให้น้ำลายไหล มีตุ่มบวม ถ้าได้รับพิษคางคกมากๆ อาจทำให้ชักหมดสติได้ แนะนำให้ใช้น้ำสะอาดฉีดล้างบริเวณที่สัมผัสพิษทันที ระวังอย่าให้สำลักหรือกลืนน้ำเข้าไปก่อนนำส่งสัตวแพทย์ค่ะ

4. ได้รับสารพิษ

สารพิษสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการกิน ซึมผ่านผิวหนัง หรือการหายใจ โดยอาการที่พบแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสารพิษที่ได้รับ เช่น น้ำลายฟูมปาก อาเจียน ท้องเสีย เดินเซ กล้ามเนื้อกระตุก ล้มฟุบ ชัก และหมดสติ

            หากได้รับสารพิษทางผิวหนังให้ล้างตัวตัวน้ำปริมาณมากๆ หากได้รับจากการสูดดม ให้รีบนำสัตว์ออกสู่บริเวณที่อากาศบริสุทธิ์ และการถ่ายเทดี (อ่านวิธีดูเเลสัตว์เลี้ยงจากสารเคมีในอากาศ

>> วิธีดูเเลสัตว์เลี้ยงจากสารเคมีในอากาศ <<

ถ้าได้รับสารพิษโดยการกิน อาจป้อนผงถ่านปริมาณ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัวสัตว์ 1 กิโลกรัม ถ้าไม่แน่ใจว่าได้รับสารพิษใด ทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหารหรือไม่ ไม่ควรกระตุ้นให้อาเจียน หรือป้อนไข่ขาว ควรนำส่งสัตวแพทย์ทันที ค่ะ

           

            การปฐมพยาบาลอย่ารวดเร็วและถูกต้อง อาจเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยชีวิตสัตว์เลี้ยง หรือ สัตว์ที่เราพบจากอุบัติเหตุได้ แต่หากสัตว์อยู่ในภาวะเจ็บปวด แล้วเราเขาหาโดยไม่ระมัดระวัง พวกเค้าอาจพยายามป้องกันตัวเอง และ กัด หรือ ข่วนเราได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการป้องกันตัวของเราเอง เข้าหาอย่างระมัดระวัง รู้วิธีจับบังคับ หรือ ใส่อุปกรณ์ป้องกันการกัด ปลอกปาก หรือ แม้กระทั่งมัดปากหากจำเป็นด้วยนะคะ

           

………………………………………………………..

บทความโดย สพ.ญ.รัชวรรณ สว่างแวว (คุณหมอเกียร์)

This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy