เครื่องมือกายภาพบำบัด

         เมื่อสัตว์เลี้ยงมีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระดูกและข้อ หรือโรคระบบประสาท ในอดีตมักต้องอาศัยการผ่าตัด หรือ กินยาบรรเทาอาการเจ็บปวด ซึ่งยาบางชนิดนั้น เมื่อให้กินเป็นระยะเวลานาน ก็อาจเกิดผลเสียต่อร่างกายตามมา โดยเฉพาะตับและไตที่มีหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย ปัจจุบันจึงมีการศึกษาเกี่ยวกับการทำกายภาพบำบัดในสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยเฉพาะในสุนัขและแมว และพบว่า เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือ กายภาพบำบัดมีความสำคัญอย่างมากในการรักษาอาการต่าง ๆ โดยช่วยลดความเจ็บปวด เร่งการฟื้นฟูของร่างกาย แก่สัตว์เลี้ยงที่มีความพิการ หรือเสื่อมสมรรถภาพทางกาย เพื่อให้สัตว์เลี้ยงสามารถกลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงกับปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากที่สุด
การบำบัดด้วยเลเซอร์ (Laser therapy)

           เลเซอร์ที่ใช้ในการบำบัดรักษา เป็นคลื่นแสงที่ให้พลังงานต่ำ (low-intensity) โดยสามารถผ่านผิวหนังไปได้ลึก 1 – 4 มิลลิเมตร ซึ่งพลังงานจากเลเซอร์จะเพิ่มพลังงานในระดับเซลล์ของบริเวณที่บาดเจ็บ กระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญอาหารของเซลล์ ทำให้เซลล์ทำงานได้ดีขึ้น และหลอดเลือดขยายตัว ข้อดีของการบำบัดด้วยเลเซอร์คือ ช่วยลดปวด ลดการอักเสบ และช่วยเร่งให้เกิดการสมานแผลได้เร็วขึ้น    

 การนวดอัลตราซาวด์ (Ultrasound therapy)

การนวดอัลตราซาวด์เป็นการส่งคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงเกินกว่าที่มนุษย์จะสามารถรับฟังได้ ผ่านชั้นเนื้อเยื่อต่างๆ เข้าไปยังส่วนที่เกิดการบาดเจ็บ ซึ่งการส่งคลื่นเสียงจะทำให้โมเลกุลของเนื้อเยื่อเกิดการสั่นสะเทือนในระดับลึก  2 – 5 เซนติเมตร แล้วเกิดความร้อนขึ้น ซึ่งความร้อนนี้ จะทำให้เกิดปฏิกิริยาให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อและเส้นเอ็นได้คลายตัว มีผลช่วยในการลดปวด และทำให้เส้นเลือดขยายตัว เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ซึ่งในทางสัตวแพทย์ส่วนมากมักจะใช้ในสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหากระดูกและข้อ

การบำบัดด้วยไฟฟ้า (electrotherapy)

          เป็นการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการบำบัดรักษา โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1.  การใช้ไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อให้หดตัว เพื่อคงความแข็งแรง และชะลอการลีบของกล้ามเนื้อ

2.  การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเพื่อลดความเจ็บปวด จากการที่เข้าไปปิดกั้นเซลล์ประสาททที่รับรู้ความเจ็บปวด
Therapeutic exercise หรือ การออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษา
 คือการเคลื่อนไหวร่างกายสัตว์ป่วย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น ซึ่งวิธีที่นิยมใช้ในทางสัตวแพทย์ได้แก่
การออกกำลังกายเพื่อคงพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ
(range of motion  : ROM) เป็นการยืดหดข้อต่อ เพื่อรักษาความยืดหยุ่น
ฝึกการลงน้ำหนัก เช่น การยกขาข้างใดข้างหนึ่งขึ้น แล้วให้ยืน 3 ขา,
การยกขาหน้ากับขาหลังสลับกัน,การฝึกสุนัขให้ลุกนั่ง หรือ ใช้อุปกรณ์
balance board และ egg ball
การออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strengthening) 
ซึ่งจะทำก็ต่อเมื่อสัตว์ป่วยไม่เเสดงอาการเจ็บแล้ว
โดยการทำธาราบำบัดด้วยการว่ายน้ำ หรือ เดินสายพานใต้น้ำ เป็นต้น 
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้