14139 Views |
เอ็นไขว้หน้าเข่าขาดในสุนัข....ผ่าตัด หรือ ไม่ผ่าตัดดีนะ?
หลายๆท่านโดยเฉพาะแฟนกีฬาอาจจะเคยได้ยินข่าวว่า นักกีฬาได้รับบาดเจ็บเอ็นเข่าขาด โดยเฉพาะกีฬายอดฮิตอย่างฟุตบอล ซึ่งนักเตะระดับโลกหลายคนก็เคยเจอกับการบาดเจ็บนี้จนต้องได้รับการผ่าตัดบ่อยครั้ง เจ้าเอ็นตัวนี้เรียกว่า “เอ็นไขว้หน้า” ค่ะ......แล้วรู้หรือไม่ว่า น้องหมาของเราก็มีเจ้าเอ็นตัวนี้เหมือนกันนะ และยังสามารถเกิดอุบัติเหตุ หรือ วิ่งเล่นซนผิดท่า จนทำให้เอ็นไขว้หน้าขาดได้เหมือนกันค่ะ
เอ็นไขว้หน้าเข่า (Cranial Cruciate Ligament : CCL) เป็นเอ็นในข้อเข่าที่เชื่อมระหว่างกระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้ง มีหน้าที่รักษาความมั่นคงของข้อเข่าในการเคลื่อนไหว และป้องกันการบิดหมุนของข้อเข่า การฉีกขาดของเอ็นเส้นนี้พบได้บ่อยในสุนัข แต่พบน้อยในแมว และเป็นสาเหตุอันดับต้นๆที่ทำให้สุนัขเดินขาหลังกะเผลก ภาวะนี้สามารถเกิดได้ในสุนัขทุกขนาด ทุกอายุ และทุกสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่คนไทยนิยมเลี้ยงและมีรายงานว่าเกิดภาวะนี้บ่อยได้แก่ ลาบาดอร์ รีทรีฟเวอร์ อาจจะด้วยความที่เป็นสุนัขที่พลังงานสูง ชอบวิ่งเล่นตลอดเวลา แต่มักจะกินจุจนน้ำหนักเกินอยู่บ่อยๆก็เป็นได้ค่ะ
ภาวะเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดมักเกิดจากหลายๆปัจจัยรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมของเส้นเอ็น ความอ้วน โครงสร้างของขาที่ผิดปกติ กรรมพันธุ์ หรือสายพันธุ์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เส้นเอ็นค่อยๆอ่อนแอลงและเกิดการฉีกขาดได้ง่าย การฉีกขาดของเอ็นเส้นนี้อาจเกิดแบบขาดแบบทั้งเส้น (Complete rupture) หรือ ฉีกขาดบางส่วน (Partial rupture) ในกรณีที่เส้นเอ็นขาดทั้งเส้น สุนัขจะไม่ลงน้ำหนักขา หรือลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการฉีกขาดบางส่วนสุนัขจะยังสามารถลงน้ำหนักได้ แต่จะแสดงอาการเจ็บขาเมื่อออกกำลังกาย และดีขึ้นเมื่อได้พัก แต่หากไม่ได้รับการรักษาภาวะการฉีกขาดของเอ็นอาจรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นขาดทั้งเส้นได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าประมาณ 40-60% ของสุนัขที่มีประวัติเอ็นไขว้เข่าขาด 1 ข้าง จะเกิดปัญหานี้ซ้ำได้ในขาอีกข้างด้วยค่ะ
โดยทั่วไปสัตวแพทย์จะวินิจฉัยภาวะเอ็นไขว้เข่าขาดด้วยการสังเกตท่าทางการเคลื่อนไหว การคลำตรวจและการถ่ายภาพรังสี (x-ray)
มาถึงคำถามยอดฮิต.....เราจะรักษาโรคนี้ได้อย่างไร ผ่าตัด หรือ ไม่ผ่าตัดดีนะ การเลือกวิธีการรักษาจะขึ้นกับอายุ สายพันธุ์ ขนาดของสุนัข กิจกรรมในชีวิตประจำวัน ลักษณะโครงสร้างกระดูกของสุนัข และระดับความรุนแรงของโรค ดังนั้นสรุปได้ง่ายๆ คือ “ไม่มีสูตรสำเร็จว่าจะต้องผ่า/ไม่ผ่าทุกครั้งไป แต่ต้องประเมินจากอาการของน้องหมาเป็นรายๆ ไปค่ะ”
การรักษาด้วยการผ่าตัด แน่นอนว่าวิธีการรักษาเป็นวิธีที่ทำให้ข้อเข่ากลับมามั่นคง และชะลอการเกิดภาวะข้อเสื่อมได้ดีที่สุด ซึ่งการรักษาด้วยการผ่าตัดที่นิยมมี 2 วิธีคือ การใส่เอ็นเทียม และการปรับมุมกระดูก การเลือกว่าจะใช้วิธีการผ่าตัดอย่างไร ขึ้นกับความเหมาะสมของสุนัขแต่ละตัว โดยสุนัขที่มีขนาดเล็กมักนิยมใช้วิธีการใส่เอ็นเทียม ส่วนการผ่าตัดแบบการปรับมุมกระดูก นิยมทำในสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ หรือสุนัขที่มีน้ำหนักตัวเยอะ ซึ่งวิธีนี้ต้องใช้เครื่องมือที่จำเพาะ และสัตวแพทย์ที่มีความชำนาญ ทำให้การผ่าตัดด้วยวิธีนี้มีราคาสูง
ภายหลังการผ่าตัดเจ้าของต้องจำกัดบริเวณสุนัข ไม่ปล่อยให้วิ่งเล่นอิสระ หรือกระโดด เป็นเวลา 8-12 สัปดาห์ โดยสุนัขที่ได้รับการผ่าตัดแบบใส่เอ็นเทียม จะสามารถกลับมาใช้ขาได้ปกติประมาณ 2 เดือนหลังผ่าตัด ส่วนสุนัขที่ผ่าด้วยวิธีปรับมุมกระดูกจะสามารถกลับมาใช้ขาได้ปกติประมาณ 3-4 เดือนหลังผ่าตัด ทั้งนี้ต้องขยันหมั่นทำกายภาพอย่างสม่ำเสมอ หากต้องการเร่งให้แผลจากการผ่าตัดหายได้เร็วขึ้น อาจจะใช้เลเซอร์บำบัดเข้ามาช่วยเพิ่มพลังงานของเซลล์บริเวณข้อเข่า ให้ช่วยซ่อมแซมแผลได้เร็วขึ้น แต่ต้องอยู่ในคำแนะนำของสัตวแพทย์นะคะ เพราะหากภายในข้อเข่ามีการใส่เครื่องมือโลหะและใช้เลเซอร์พลังงานสูง จะเกิดการสะสมความร้อนภายในโลหะได้ค่ะ
ตัวอย่างการรักษาสุนัขเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดทั้งเส้นโดยการผ่าตัดและกายภาพบำบัด “น้องบาลู” <<คลิก>>
การรักษาภาวะเอ็นไขว้เข่าขาดแบบไม่ผ่าตัด สามารถพิจารณาทำได้ในสุนัขที่เอ็นไว้เข่าขาดบางส่วน หรือ มีข้อจำกัดในการวางยาสลบ เช่นอายุมาก หรือ มีโรคประจำตัวที่ทำให้มีความเสี่ยงในการวางยาสลบ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าสุนัขที่เลือกรักษาแบบนี้มักจะมีอาการเรื้อรัง และเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมตามมาได้ง่ายกว่า การรักษาแบบไม่ผ่าตัดจะประกอบด้วยการรักษาทางยา การจำกัดบริเวณ การกายภาพบำบัดด้วยเลเซอร์เพื่อลดอาการเจ็บปวด อัลตร้าซาวด์เพิ่มการไหลเวียนของเลือด และเดินสายพานใต้น้ำ เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อขาหลังให้แข็งแรง นอกจากนี้ยังแนะนำให้ใส่สนับเข่าช่วยพยุง เพิ่มความมั่นคงให้กับเข่า ชดเชยตัวเอ็นที่เสียหายไปด้วยค่ะ
ตัวอย่างการรักษาสุนัขเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดบางส่วนโดยการใส่สนับเสริมไทเทเนียม “น้องดีโน่” << คลิก >>
........................................................................................
บทความโดย....สพ.ญ.อภิลักษณ์ มหัธนันท์
ที่มา
smallanimal.vethospital
acvs.org