2663 Views |
น้องหมาจ้ำม่ำพุงย้อย แก้มแน่น จับแล้วเต็มไม้เต็มมือ น่ารักจริงๆเลยลูกกกก...แต่รู้หรือไม่น่ารักแบบนี้ เราอาจกำลังทำร้ายเค้าโดยที่เราไม่รู้ตัว ปัญหาและโรคหลายๆโรคมักมี "ความอ้วน" เป็นสาเหตุ ที่น่าตกใจก็คือ มีการศึกษาวิจัยจากประเทศอเมริกา ยืนยันว่าจำนวนสุนัขที่จัดอยู่ในกลุ่มอ้วนในประเทศอเมริกาตอนนี้พุ่งกระฉูดขึ้นไปถึง 40% แล้ว ซึ่งเจ้าความอ้วนเนี่ย เปรียบเสมือนแม่เหล็กที่จะดึงดูดโรคเลยทีเดียวค่ะ
โรคที่เกิดจากการเหนี่ยวนำจากความอ้วน
1. โรคกระดูกและข้อ
สุนัขที่อ้วนและน้ำหนักเกิน ทำให้ขาต้องแบกรับน้ำหนักที่เกินของตัวเอง จึงทำให้มีปัญหาด้านกระดูกและข้อ รวมถึงปัญหาต่อเนื่องถึงกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังตามมา นอกจากนี้ความอ้วนยังเพิ่มการหลั่งของสารสื่ออักเสบ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการอักเสบของกระดูกและข้ออีกด้วย
2. ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจและหัวใจ
สัตว์เลี้ยงที่อ้วนมักปัญหาในเรื่องการหายใจ วิ่งนิดวิ่งหน่อย หรือเล่นๆกันอยู่ก็หอบแฮ่กแล้ว เพราะอกของสุนัขอ้วนจะเต็มไปด้วยไขมัน ดังนั้นปอดและระบบทางเดินหายใจจะทำงานยากขึ้น และไขมันในร่างกายยังต้องการอ๊อกซิเจนไปหล่อเลี้ยง สุนัขอ้วนจึงต้องการออกซิเจนมากขึ้น นอกจากนี้ไขมันยังทำให้หลอดเลือดตีบ ความดันสูง และมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจตามมาด้วย
3.โรคเกี่ยวกับผิวหนัง
น้องหมาที่อ้วนจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาด้านโรคผิวหนังมากกว่าปกติ เนื่องจากไม่สะดวกในการทำความสะอาดตัวเอง และไขมันที่สะสมยังทำให้เกิดรอยพับหรือชั้นตามผิวหนัง เป็นจุดที่ทำให้เกิดการหมักหมมของสิ่งสกปรก จึงทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
4 .ปัญหาระบบต่อมไร้ท่อและการย่อย
ความอ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อทำให้เกิดปัญหาต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ ซึ่งต่อมไร้ท่อมีหน้าที่ในการหลั่งฮอร์โมนเพื่อสั่งการร่างกาย เมื่อต่อมไร้ท่อผิดปกติ ระบบการทำงานของร่างกายก็จะเสียตามไปด้วย อาจทำให้เกิดลำไส้และตับอ่อนอักเสบ ไขมันพอกตับ ท้องผูกมีแก๊ส แผลหลุมในกระเพาะอาหาร และเหนี่ยวนำทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ด้วยค่ะ
เห็นแล้วใช่ไหมว่า....น้องหมาจ้ำม่ำน่ารักจริงๆ แต่แฝงมาด้วยโรคร้าย โดยน้องหมาที่มีรูปร่างอ้วนนั้นมักจะอายุสั้นกว่าน้องหมาที่มีรูปร่างปกติในพันธุ์เดียวกัน และโอกาสการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นอีกด้วย สรุปได้ว่า...ความอ้วน เป็น "โรค" เป็นความเจ็บป่วย ที่ต้องรักษา....นั้นก็คือการ “ลดน้ำหนัก”
ส่วนสำคัญที่สุดในการลดน้ำหนักให้กับน้องหมาก็คือ “เจ้าของ” มากกว่าครึ่งหนึ่งของน้องหมาที่ลดน้ำหนักไม่สำเร็จมักเกิดจากเจ้าของ เช่น บางคนเห็นสุนัขมาขออาหารหรือขนมกินก็อดให้ไม่ได้ จึงทำให้การลดน้ำหนักไม่สำเร็จ.......ส่วนวิธีการลดความอ้วนให้กับน้องหมาจะต้องทำอย่างไรนั้น พบกันใหม่ในตอนที่หน้า...ตอนสุดท้ายนะคะ
ตอนที่ 1 ...น้องหมาของเรา...อ้วนหรือยังนะ?
ตอนที่ 2 ... "มัน"...กำลังจะมา ปัจจัยที่ทำให้น้องหมาน้องแมวอ้วน
ตอนที่ 3 ... จ้ำม่ำ น่ารัก...แต่แฝงด้วยโรคร้าย
ตอนที่ 4 ...ลดความอ้วนให้สัตว์เลี้ยงแสนรักกันเถอะ
.................................................................
บทความโดย
สพ.ญ. พรปวีณ์ ธนรัตน์สุทธิกุล
Picture : Source , thepaws , hamboneaward